กังหันน้ำ"คีรีวง" พลังชุมชนพึ่งตนเอง
![]() |
ชาวคีรีวงเป็นที่รู้จักกันดีถึงความเป็นชุมชนพึ่งตนเอง แม้จะเคยประสบอุทกภัยและป่าน้ำถล่มครั้งใหญ่เมื่อปีพ.ศ.2531 แต่จากความร่วมมือร่วมใจ จึงทำให้คนที่นี่ก่อร่างสร้างชุมชน จนกระทั่งยืนได้อย่างมั่นคงถึงทุกวันนี้
บ้านคีรีวง ไม่ได้โดดเด่นเฉพาะเรื่องการจัดการท่องเที่ยว กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ และผ้ามัดย้อมเท่านั้น การพึ่งตนเองในเรื่องพลังงานเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านคีรีวงลุกขึ้นมาจัดการด้วยตัวเองตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา
โดยการทดลองประดิษฐ์กังหันน้ำขึ้นใช้เพื่อดึงน้ำเข้าสู่พื้นที่สวนผลไม้ และ "สวนสมรม" บนภูเขา เป็นสวนผลไม้ที่ปลูกผสมผสานกัน ไม่แยกแปลงไม้และชนิด อาศัยธรรม ชาติให้พืชแต่ละชนิดเกื้อกูลพึ่งพากันเอง ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน มังคุด ลางสาด และสะตอ
อีกทั้งน้ำยังสามารถนำมาผลิตกระแสไฟฟ้าไว้ใช้ที่ "ขนำ" ขณะขึ้นไปเฝ้าสวน เพราะไฟฟ้าเข้าไปไม่ถึงพื้นที่บนภูเขา
"ลุงส่อง" หรือ นายส่อง บุญเฉลย แห่งบ้านคีรีวง เป็นคนแรกที่ลองผิดลองถูกในการประดิษฐ์กังหันน้ำแบบง่ายๆ จากแกนล้อรถจักรยาน และกระป๋อง
![]() |
จากนั้นเพื่อนบ้านอีก 2 คน คือ "ค้างคาว" หรือ นายสุภักดิ์ หัตถิ และ "การุณ ขุนทน" ได้เริ่มประดิษฐ์กังหันน้ำในแบบของตัวเองขึ้นเช่นกัน ด้วยเทคโนโลยีแบบชาวบ้าน แม้จะยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็นำไปใช้ประโยชน์ได้
"การุณ" เล่าว่า ถ้าเราอยากพัฒนาทุกเรื่องเราต้องลงมือทำเอง แต่ที่ผ่านมาไม่มีทุนมากนักเลยไปไม่ได้ไกล ตอนที่เริ่มต้นลงมือประดิษฐ์กังหันน้ำ ตั้งแต่เมื่อปีพ.ศ.2541 นั้น ครั้งแรกที่เห็นไฟฟ้าสว่างขึ้นจากกังหันน้ำที่ผลิตเองรู้สึกดีใจมาก หายห่วงแล้วเวลาที่ขึ้นมาทำสวนบนเขา เพราะมีน้ำรดต้นไม้ และมีไฟทำงานได้สะดวกขึ้น
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา กังหันน้ำคีรีวงได้รับการต่อยอดขยายผลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่เข้ามาคิดค้นร่วมกับชาวบ้าน ในการปรับปรุงกังหันน้ำ พัฒนารูปแบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เป็นการต่อยอดจากนวัตกรรมท้องถิ่นเดิม โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ไม่ซับซ้อนและราคาถูก
นายอุสาห์ บุญบำรง นักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เล่าว่า เมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว เข้ามาศึกษาเรื่องแนวคิดในการทำกังหันน้ำของชาวคีรีวง และวัดกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากกังหันน้ำที่ชาวบ้านประดิษฐ์ขึ้น แต่ยังมีสิ่งที่ต้องแก้ไขปรับปรุง เนื่องจากคีรีวงเป็นพื้นที่สูง ฉะนั้น จึงคุยกันว่าเทคโนโลยีที่ใช้จะต้องเหมาะสมกับพื้นที่ และต่อยอดจากสิ่งที่ชาวคีรีวงได้คิดกันไว้แล้ว
![]() |
หลังจากนั้นจึงเริ่มปรับปรุงรูปแบบของกังหันน้ำร่วมกัน และให้การสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ในการสร้าง แต่ละชุดใช้เงินประมาณกว่า 10,000 บาท ขณะนี้ติดตั้งเสร็จแล้ว 3 ชุด เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา และหวังว่าในอีก 6 เดือนน่าจะขยายผลติดตั้งกังหันน้ำของชาวคีรีวงเพิ่มขึ้น
"ตอนนี้ที่บ้านคีรีวงก่อตั้งกลุ่มกังหันน้ำคีรีวงขึ้นมามีสมาชิก 20 คน ต่างสนใจที่จะผลิตกังหันน้ำไว้ใช้ และรอดูต้นแบบจากทั้ง 3 คนที่ผ่านการลองผิดลองถูกมาแล้วว่ามีประสิทธิภาพดีแค่ไหน ทุกบ้านจึงติดตั้งท่อรอไว้แล้ว เพียงแต่นำตัวกังหันน้ำที่ปรับให้เข้ากับท่อที่มีอยู่เข้ามาติดตั้งเท่านั้น ชาวคีรีวงจะเป็นผู้ทำกันเอง และถ้ามีปัญหาก็สามารถแก้ปัญหาร่วมกันได้" นายอุสาห์กล่าว
หลังจากติดตั้งกังหันน้ำทั้ง 3 เครื่องแล้ว ทำให้วันนี้พื้นที่สวนสมรม 21 ไร่ ของ "ลุงส่อง" มีกังหันน้ำที่สามารถดึงน้ำมารดต้นไม้ได้อย่างพอเพียง แถมพลังงานน้ำอีกส่วนหนึ่งสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวน 450 วัตต์ใช้เองได้ โดยที่กำลังไฟไม่ตก และไม่เป็นอันตรายกับเครื่องใช้ไฟฟ้า
ขณะที่กังหันน้ำของ "ค้างคาว" สามารถนำน้ำมาใช้ในพื้นที่สวนสมรม 15 ไร่ได้ ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 310 วัตต์
ส่วนกังหันน้ำของ "การุณ" สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ถึง 1,400 วัตต์แล้ว สำหรับพื้นที่สวนสมรม 50 ไร่
ทั้ง 3 เกลอแห่งคีรีวงบอกว่า ทุกวันนี้ทำสวนได้อย่างสบาย ซึ่งทั้งหมดเป็นผลมาจากการพึ่งตัวเอง ที่พวกเขาลงมือสร้างร่วมกัน
นี่คือความตระหนักในเรื่องของการใช้พลังงานหมุนเวียนจากพลังน้ำ ที่ชาวบ้านร่วมมือกันพึ่งตนเองในเรื่องของพลังงาน และนำไปสู่การจัดการทรัพยากรน้ำในหมู่บ้าน
แม้คีรีวงจะเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงการคิดค้นเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม ด้วยภูมิปัญญาของคนในชุมชน และฐานทรัพยากรที่มีอยู่เดิม โดยลดการพึ่งพาจากพลังงานภายนอกที่เหลือน้อยลงทุกวัน
หน้า 6
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น