
Related News
- น้องน้อยแพนด้า
- 4-6 ก.ค.ฉลองแพนด้าน้อยจัดยิ่งใหญ่
- แพนด้าโตเร็ว'หลินฮุ่ย'เมื่อยแห่ชมคึกคัก!
- www.pandainthailand.net
- ทั่วโลกตื่นเต้นไทยเก่งผสมเทียมหมีแพนด้า
แต่ละภาษาต่างมีเอกลักษณ์ความโดดเด่น อีกทั้งมีเสน่ห์ความลึกซึ้งถ่ายทอดการดำเนินชีวิต เอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นพื้นที่
หลังจากที่ลูกแพนด้าตัวแรกที่เกิดในประเทศไทยนับแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงขณะนี้ ในความเคลื่อนไหวทั้งเรื่องราวความน่ารักเป็นขวัญใจของเด็ก ๆ นักท่องเที่ยวชาวไทยชาวต่างชาติที่ได้พบเห็นชื่นชม ที่ผ่านมายัง มีความคืบหน้าเกี่ยวกับสุขภาพความแข็งแรงสมบูรณ์ พัฒนาการที่ดีขึ้นของแพนด้าน้อยสมาชิกใหม่ของสวนสัตว์เชียงใหม่
การตั้งชื่อ ต้อนรับแพนด้าน้อยเป็นอีกกิจกรรมที่ได้รับการตอบรับมีความคึกคักเป็นที่สนใจกว้างขวางหลังจากหมดเขตปิด รับการส่งชื่อผ่านไปเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน หลากหลายชื่อทั้งภาษาเหนือ ภาษาจีน ฯลฯ ที่ส่งมามากมายโดยเฉพาะทางไปรษณียบัตรนั้นจากข่าวที่ปรากฏมีกว่าแสนฉบับ
จากนั้นชื่อทั้งหมดจะถูกรวบรวมและคัดเลือก ซึ่งในชื่อที่เหมาะสม ความหมายดี องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์และบริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้ร่วมกันจัดพิมพ์ไปรษณียบัตรใน “โครงการไปรษณียบัตรประกวดตั้งชื่อลูกหมีแพนด้า” พร้อมให้ประชาชนร่วมเลือกชื่อที่ต้องการตั้งให้กับลูกแพนด้าซึ่งชื่อที่ได้รับการโหวตมากสุดจะเป็นชื่อของแพนด้าน้อย
แต่ก่อนจะทราบกันนั้น ในความโดดเด่นของภาษาไม่ว่าจะเป็น คำจีน คำล้านนา ที่ปรากฏเป็นชื่อร่วมชื่นชมยินดีกับแพนด้าน้อย ในสีสันเอกลักษณ์ของภาษาจีน หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญภาษาจีน ให้ความรู้ว่า ถ้าจะมองภาษาจีนที่คนนอกมองมานั้น ความโดดเด่นความเป็นเอกลักษณ์ของภาษาน่าจะเป็นเรื่องของ ตัวอักษรซึ่งตัวอักษรจีนเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง
ภาษาจีนอาจจะยากในเรื่องของการเขียน แต่ในภาษาพูดนั้นมีหลายคนที่สามารถพูดภาษาจีนได้โดยไม่ได้เรียนเขียน ภาษาและวัฒนธรรมของจีนเป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องควบคู่กันอย่าง ผลไม้มงคลของจีน ชื่อเรียกไม่ ว่าจะเป็น ส้ม แอปเปิ้ล ฯลฯ ต่างก็มีความหมายดีเป็นมงคล ขณะที่ ทับทิม แม้จะไม่เกี่ยวกับเรื่องของเสียงภาษา แต่ลักษณะของทับทิมที่มีเม็ดมากก็ให้ ความหมายดี หมายถึง มีลูกมาก ฯลฯ
ส่วนคำที่มีความหมายชื่อที่เป็นมงคล พบว่ามีซ้ำกันอยู่ไม่น้อย อย่างถ้าเป็นผู้หญิงหากไม่มีคำว่า เหม่ย ก็ต้องมีคำว่า ลี่ ซึ่งแปลว่าสวยงาม หรือไม่ก็ต้องเป็นชื่อของดอกไม้ ก็จะคล้าย ๆ กับคนไทย หรือไม่ถ้าเป็นผู้ชายก็ต้องมีความหมายถึงความเฉลียวฉลาด ความแข็งแกร่ง ฯลฯ
“คำที่บ่งบอกถึงความเป็นมงคล คำมงคลนั้นจะดูที่ตัวอักษรซึ่งในภาษาจีนมีคำพ้องเสียงอยู่เยอะมาก ซึ่งในคำคำเดียวกัน เมื่อดูตัวอักษรความหมายดี อักษรตัวนี้มีความหมายเป็นกลาง แต่ในการออกเสียง เสียงเดียวกันหากเขียนต่างกันอาจจะมีความหมายที่ต่างกันไป อาจจะดีมาก ไม่ดีมากก็ได้ ดังนั้นจึงควรดูที่ตัวอักษรอีกทั้งบางเสียงอาจฟังดูแล้วเพราะ อย่าง หมิง แปลว่า แสงสว่าง หลิง ซึ่งก็มีหลายความหมายที่นำมาใช้ตั้งชื่อให้ความหมายในเชิงกระจุ๋มกระจิ๋มน่ารัก ฯลฯ”
ส่วนเรื่องของชื่อแพนด้าเท่าที่พอทราบ แพนด้า ส่วนใหญ่มีชื่อเรียก การตั้งชื่อที่ฟังดูน่ารักเป็นคำคำเดียว คำสั้นแต่มักจะซ้ำกันสองพยางค์ อย่าง ช่วง ช่วง, จิง จิง, หยวน หยวน ฯลฯ ซึ่งเป็นคำเดียวกัน แต่เป็นคำซ้ำและขณะที่แพนด้าเป็นที่รักของเด็ก ในการตั้งชื่อเหล่านี้ยังมีความโดดเด่นเป็นที่จำได้ง่ายของเด็ก ๆ อีกด้วย
“ภาษาจีนแม้จะเป็นที่สนใจ แต่การเรียนรู้มักเป็นเพียงแค่เบื้องต้นจึงอยากฝากว่าควรศึกษาอย่างต่อเนื่องและไม่ว่าจะเป็นภาษาใด ทุกภาษาต่างมีเสน่ห์มีความยากง่าย ความซับซ้อนจึงควรหมั่นฝึกฝนต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการนำภาษาไปใช้นั้นควรจะศึกษาให้ รู้จริงและเข้าใจในภาษานั้น” ผู้รู้ภาษาจีน กล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่อีกสีสันภาษาที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ภาษาเหนือ ภาษาถิ่นที่ถ่ายทอดให้ได้เห็นถึงวิถีชีวิตแก่นแท้ของวัฒนธรรมท้องถิ่น ผศ.ดร.บุญเหลือ ใจมโน นักวิชาการด้านภาษาไทยและภาษาถิ่นเหนือ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ความรู้ว่า แต่ละภาษาต่างมีเอกลักษณ์ ภาษาถิ่นเหนือมักเป็นคำโดดหรือ คำเดี่ยวแต่มักจะเติมคำเพิ่มเพื่อให้เกิดความสละสลวยขึ้น
ในความงามความหมายของภาษาเหนือคำบางคำใน ต่างท้องที่อาจแตกต่างกันและบางคำอีกเช่นกันที่เหมือนมีความคล้ายคลึงกับภูมิภาคอื่น ภาษาจึงเป็นสิ่งสะท้อนวิถีชีวิต วัฒนธรรมเป็นมรดกของคนในท้องถิ่น ภาษาถิ่นเหนือมีทั้งตัวเขียนที่เรียกว่า ตัวเมือง (ตั๋วเมือง, ตั๋วธรรมเมือง) คัมภีร์ใบลานเขียนเป็นอักษรธรรมเหนือ ซึ่งพระเณรสมัยก่อนนั้น จะอ่านกันได้ชัดเจน อีกทั้งในเสียง สำเนียงก็มีเอกลักษณ์ในตัวเอง
“คำที่มีความหมายดีที่นิยมนำมาตั้งเป็นชื่อมีหลากหลายและพบว่าคล้ายกับภูมิภาคอื่น อย่างคำว่า บุญ นั้นมีอยู่ไม่น้อยไม่ว่าจะเป็น บุญค้ำ บุญหนุน บุญเหลือ บุญหลาย บุญมา บุญมี ฯลฯ เป็นคำสั้น คำที่เรียกง่ายที่มีความหมายดีเป็นมงคล นอกจากนี้ในคำที่สื่อความหมายดีที่เกี่ยวกับแก้ว อาทิ แก้วคำ ก็มีให้เห็น เดือน ดาว รวมทั้งคำว่า เพชร ก็มีความเป็นมงคลพบไม่น้อยเช่นเดียวกัน อีกทั้งยังพบว่ามีการนำ ชื่อวัน มาตั้งเป็นชื่อเรียกกันอีกด้วย”
เสน่ห์ของภาษาถิ่นเหนือในความเห็นจึงมองว่า ภาษาเหล่านี้นอกจากจะเป็นเอกลักษณ์ถ่ายทอดถิ่นฐาน สำเนียงภาษาเมื่อนำมาสื่อสารกันจะเห็นว่ามีความชัดเจน เข้าถึงในสิ่งที่ต้องการจะถ่ายทอดบอกเล่า ภาษาถิ่นเหนือยังให้ภาพอรรถรสของเรื่องราวนั้น ๆ อย่าง กิ้งกือ จะเรียก แมงแสนตี๋น พริกชี้ฟ้า เรียก พริกก้นปลิ้น บอกเล่าให้เห็นลักษณะปลายพริกที่ชี้ขึ้น ขณะที่ต้นไม้อย่าง ไมยราพ เมื่อสัมผัสก็จะหุบยุบลง ภาษาถิ่นก็จะเรียกว่า ต้นหญ้าจิยอบ ซึ่ง จิ เป็นภาษาถิ่นบอกเล่าอากัปกิริยาการแหย่ ยุบตัวลงจะเรียกว่า ยอบ ฯลฯ ซึ่งเหล่านี้ต่างเป็นสีสันของภาษา
ขณะที่วิทยาการสื่อสมัยใหม่เข้ามามีบทบาท ภาษาไทยเหนือเริ่มห่างหายคำศัพท์บางคำอาจไม่ได้นำมาพูดกัน ความภาคภูมิใจในภาษาวัฒนธรรมประจำถิ่น รู้เข้าใจใช้ภาษาอย่างถูกต้องสิ่งนี้นั้นมีความหมายเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยรักษาให้ภาษาถิ่นคงอยู่
จากสีสันเสน่ห์ของภาษาไม่ว่าจะเป็นภาษาใด ทุกภาษาต่างมีเอกลักษณ์ คุณค่า บอกความหมายเรื่องราวการสื่อสาร ส่วนชื่อแพนด้า หมีน้อยสมาชิกใหม่ที่กำลังกล่าวขานกันนั้น จะมีชื่อว่าอย่างไร คงต้องติดตามกันต่อไป.
พงษ์พรรณ บุญเลิศ
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=486&contentID=3885
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น