ผลิตภัณฑ์สีเขียว มิตรสิ่งแวดล้อม
สุจิต เมืองสุข
โดยกลวิธีการผูกมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมลงมือทำเลือก "เทคโนโลยีสะอาด" หรือ "คลีน เทคโนโลยี" Clean Technology เข้าไปประยุกต์ใช้ มุ่งเน้นไปที่ผู้ผลิตโดยตรง ตั้งแต่การผลิตขนาดเล็กในครอบครัว ชุมชน หรือแม้กระทั่งระดับการผลิตที่ใหญ่ขึ้นในแบบของสถานประกอบการ
ภายใต้ "โครงการส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม"
โดยจะมอบรางวัลมาตรฐานการผลิตตัว G (Green Production) ให้แก่กลุ่มผู้ผลิต หากทดสอบแล้วผลิตภัณฑ์ผ่านมาตรฐานตามที่กรมกำหนด ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นที่ผ่านมาตรฐานการทดสอบจะได้รับการการันตีว่าเป็น "กรีน โปรดักต์" (Green Product) หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะกับสิ่งแวดล้อม หรือผลิตจากวัสดุธรรมชาติ หรือวัสดุรีไซเคิล
มาตรฐานการผลิตตัว G ยังแบ่งระดับเกณฑ์ประเมินไว้ 3 ระดับ ประกอบด้วย ระดับดีเยี่ยม สีทอง, ระดับดีมาก สีเงิน, และระดับดี สีทองแดง
ตลอด 4 ปี มีผู้ผลิตระดับครอบครัว กลุ่มแม่บ้าน ชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัด หรือสถานประกอบการขนาดใหญ่ เข้าร่วมโครงการหลายร้อยราย แต่ผ่านการทดสอบที่ได้มาตรฐานอย่างแท้จริงเพียง 30 รายเท่านั้น
ใน 30 ราย แยกผลิตภัณฑ์เป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มกระดาษสา สุรากลั่น สิ่งทอขนาดเล็ก ผักและผลไม้แช่เย็นหรือแช่แข็ง เฟอร์นิเจอร์ไม้ และน้ำตาลทราย
นางอรพินท์ วงศ์ชุมพิศ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม แจกแจงถึงเกณฑ์การตัดสินใจผลิตภัณฑ์ผ่านมาตรฐาน โดยระบุว่า กรมมีเกณฑ์ที่ใช้ประเมินต้องพิสูจน์ได้ว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริงๆ คือ การใช้วัตถุดิบในกระบวนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ มีการลดหรือหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี และวัตถุดิบที่เป็นอันตราย ประหยัดพลังงาน หรือใช้พลังงานที่สะอาดขึ้น มีการนำกลับมาใช้ใหม่หรือใช้เทคโนโลยีหมุนเวียน และมีการจัดการมลพิษที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต
หากผู้ผลิตใดได้รับมาตรฐานตัว G ไปแล้ว ในทุกๆ ปีทางกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมจะส่งเจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบผลิตภัณฑ์ หากพบว่าไม่ได้มาตรฐาน อาจถอนมาตรฐานตัว G ออกในขณะนั้น
นางปราณี กันทะพรหม เหรัญญิกโรง งานทอสา อ.ดอย สะเก็ด จ.เชียงใหม่ ตัวแทนกลุ่มแม่บ้านกว่า 20 คน ที่รวมตัวกันผลิตผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกระดาษสา และเข้าร่วมโครงการตัว G เล่าว่า เดิมใช้โซดาไฟในขั้นตอนการผลิตกระดาษสา ซึ่งเบื้องต้นยังไม่พบปัญหาใดๆ และผลิตภัณฑ์ก็ยังได้รับการตอบรับอย่างดี
ต่อมาเกิดปัญหาน้ำเน่าเสียในบ่อบำบัดน้ำเสียที่กลุ่มทำขึ้นเพื่อบำบัดน้ำเสียภายหลังจากการใช้น้ำ ซึ่งมีส่วนผสมของโซดาไฟ แต่เนื่องจากการย่อยสลายสารบางชนิดในโซดาไฟทำได้ยาก จึงส่งผลให้น้ำเน่าเสีย และส่งกลิ่นเหม็นไปทั่วหมู่บ้าน
"ตอนนั้นโครงการส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาที่หมู่บ้านพอดี เลยตัดสินใจเข้าร่วมโครง การ และได้รับการอบรม แนะนำ ให้ความรู้ จนตอนนี้นำสารโพแทสเซียมมาใช้แทนโซดาไฟในขั้นตอนการกัดกระดาษสาแทน นอกจากจะไม่ทำให้หลงเหลือสารเคมีในธรรมชาติแล้ว ผลิตภัณฑ์กระดาษสาที่ได้ยังมีคุณภาพมากกว่าด้วยซ้ำ" นางปราณีกล่าว
นอกเหนือจากผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มคุณภาพขึ้น กลุ่มแม่บ้าน อ.ดอยสะเก็ด ยังพบว่ากลิ่นเหม็นที่ส่งกลิ่นคลุ้งไปทั่วหมู่บ้านจนหาทางแก้ได้ลำบากนั้นหมดไป และตัวผู้ผลิตเองก็ไม่ต้องเสี่ยงกับการสัมผัสสารเคมีในชีวิตประจำวันด้วย
โครงการไม่ได้จัดตั้งขึ้นเพียงตรวจวัดมาตรฐานการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม แต่กรมส่งเสริมสิ่งแวดล้อมเติมความสมบูรณ์ให้โครงการด้วยการจัดส่งวิทยากรเข้าไปในชุมชน และสถานประกอบการ เพื่อสร้างความเข้าใจ เพิ่มฐานความรู้ และปลูกฝังรู้รักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับชุมชน
ผลิตผลที่ผู้ประกอบการผ่านมาตรฐานการตรวจสอบจากกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม การันตีคุณภาพด้วยตราสัญลักษณ์ตัว G จำนวน 30 ราย ในวันนี้มี 12 รายที่นำผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาออกบูธจัดแสดง และจำหน่ายถึงกลางกรุง
ลานกว้างชั้น 1 กลางห้างสรรพสินค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ เป็นสถานที่จัดแสดงผลิตภัณฑ์ในครั้งนี้ และพร้อมจำหน่ายให้แก่ผู้สนใจในราคาต้นทุน
โดยผลิตภัณฑ์ที่นำมาคัดเลือกมาเพียง 2 กลุ่มเท่านั้น คือ กระดาษสา และสิ่งทอขนาดเล็ก เนื่องจากผลิตภัณฑ์ประเภทอื่นจำเป็นต้องมีอุปกรณ์ และเครื่องมือประกอบจึงไม่สะดวกต่อการจัดแสดงนอกสถานที่
นับว่าเป็นเพียงครั้งแรกและครั้งเดียวของผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตามโครงการส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จัดแสดงและวางจำหน่ายจากผู้ผลิตถึงมือผู้บริโภคโดยตรง งานนี้จะมีไปถึงวันที่ 10 มิ.ย.นี้เท่านั้น
หน้า 5
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น