บ.ซีแคนูไทยแลนด์ จำกัด บ้าน ร๊อคการ์เด้นท์ 125/461 บ้านทุ่งคา - บ้านสะปำ ต. รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 โทรศัพท์ 076 528839 - 40 โทรสาร 076 258841 อีเมล์: info@seacanoe.net เว็บไซต์ http://www.seacanoe.net/ Please visit my blog.Thank you so much. http://www.sanamluang.bloggang.com / http://tham-manamai.blogspot.com / http://www.parent-youth.net/ http://www.tzuchithailand.org/ http://www.pdc.go.th/ http://www.presscouncil.or.th / http://thainetizen.org/ http://www.ictforall.org

"เชิญชวนทุกท่านร่วมสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน"

ฉันไม่ชอบกฎหมาย
Bookmark and Share
Blognone

วันอาทิตย์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

อ้อนรัฐสานต่อโลจิสติกส์ ส.อ.ท.ปลื้มเอกชนร่วมโครงการตรึม

 
วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4109

อ้อนรัฐสานต่อโลจิสติกส์ ส.อ.ท.ปลื้มเอกชนร่วมโครงการตรึม


เผย 4 โครงการยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ที่กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมมือกับ ส.อ.ท. ผนึกกำลังปั้นมากว่า 2 ปี มีผู้ประกอบการร่วมตรึม 3,500 ราย และอีก 113 บริษัท อ้อนรัฐสานต่อ ปลัดกระทรวงอุตฯชี้หากร่วมมือกันแข็งขัน ต้นทุนโลจิสติกส์ประเทศจะลดเหลือ 16% อย่างแน่นอน



นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงโครงการยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นกิจกรรมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่ดำเนินการมา 2 ปีว่า โครงการพัฒนาขีดความสามารถด้านโลจิสติกส์ โครงการโลจิสติกส์คลินิก เพื่อพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โครงการประยุกต์ใช้รหัสสินค้าบาร์โค้ดในระบบการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน เพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางการค้า และโครงการสร้างมาตรฐานด้านโลจิสติกส์ของอุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมพื้นฐาน รวม 4 โครงการได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วภายใน 2 ปี มีกิจกรรมครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯและ 5 ภูมิภาค รวม 18 จังหวัด มีผู้ประกอบการเข้าร่วมกิจกรรม 3,500 คน และอีก 113 บริษัท

กิจกรรมที่ดำเนินการเป็นการแก้ไขปัญหาเชิงลึก ทั้งการประชุมเชิงปฏิบัติการในการพัฒนาและปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ภายในกลุ่มอุตสาหกรรม (internal improvement workshop) และการประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาธุรกิจ (business improvement workshop) และโลจิสติกส์คลินิกต่ออุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนและยานยนต์ ปิโตรเคมีและพลาสติก เหล็ก สิ่งทอ และอื่นๆ อีกหลายอุตสาหกรรม ในทุกภูมิภาค

"โครงการทั้งหมดสามารถลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ได้กว่า 13.7 ล้าน/ปี จากการบริหารกิจกรรมโลจิสติกส์อย่างมีระบบภาย ในองค์กรของตนเองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผู้ประกอบการเริ่มเข้าใจสามารถนำความรู้ไปจัดทำแผนการพัฒนาทั้งระยะสั้น ระยะยาวได้ด้วยตนเอง" นายพยุงศักดิ์กล่าว

นายดำริ สุโขธนัง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงโครงการยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านโลจิสติกส์ ซึ่งเป็นกิจกรรมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนว่า เป็นไปตามนโยบายที่นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ต้องการทำคลังสมองเพื่อชาติ ทั้ง 2 ฝ่ายต้องร่วมมือกัน ต่อไปต้องให้ภาคเอกชนนำเสนอแล้วมาหารือกันกับภาครัฐ จากเดิมที่ภาครัฐต้องเป็น คุณพ่อรู้ดีทุกอย่าง

"ต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศยังสูงถึง 19% ของจีดีพี ต่อไปหากภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันอย่างแข็งขัน ต้นทุนจะลดลงเหลือ 16% ได้อย่างแน่นอน และภาครัฐทั้งสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) พร้อมจะสนับสนุนงบประมาณแก่ภาคเอกชนต่อไป เพราะมีความชัดเจนในการลดต้นทุน อย่างไรก็ตามยังมีอีกหลายเรื่องที่ภาคเอกชนไม่ต้องรอรัฐ สามารถลดต้นทุนไปได้เลย"

ทางด้านนายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การจัดการโลจิสติกส์เป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญในการพัฒนาอุตสาห กรรมและประเทศ เพราะปัจจุบันต้นทุน โลจิสติกส์ของประเทศไทยค่อนข้างสูง ฉะนั้นความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนต้องดำเนินต่อไป และ ส.อ.ท.พร้อมจะสานต่อโครงการเหล่านี้อีกเพื่อมุ่งสู่ความยั่งยืน หากเอกชนได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ

หน้า 14
http://www.matichon.co.th/prachachat/prachachat_detail.php?s_tag=02lsc01280552&day=2009-05-28&sectionid=0224
 


Windows Live™: Keep your life in sync. Check it out!

นกเค้าใหญ่พันธุ์เนปาล อินทรีแห่งรัตติกาล

วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 19 ฉบับที่ 6758 ข่าวสดรายวัน


นกเค้าใหญ่พันธุ์เนปาล อินทรีแห่งรัตติกาล


คอลัมน์ ทัวร์ทโมน

ปริญญา ผดุงถิ่น pui@tourtamoan.com www.tourtamoan.com




นกเค้าใหญ่พันธุ์เนปาล นกในฝันที่ตามเจอจนได้

ผมเพิ่งประสบความสำเร็จสูงสุดครั้งหนึ่ง ในชีวิตการเป็นนักดูนก

เมื่อได้เจอนกเค้าใหญ่พันธุ์เนปาล (Spot-bellied Eagle-Owl หรือ Forest Eagle-Owl)) ที่ถือเป็นนกในฝัน นกในดวงใจ หมายมั่นปั้นมือ อยากเจอตัวเป็นๆ มานานนับสิบปี!

กว่าจะได้เจอตัว ผมต้องเตรียมความพร้อมให้ตัวเองหลายอย่างมานานแล้ว ไม่ว่าจะอุปกรณ์ รายงานข่าวการพบเห็น และประสบการณ์การส่องนกกลางคืนของตัว

จนในที่สุด ก็ขีดเส้นกับตัวเองว่า ปี 2552 นี่แหละ ผมจะต้องตามเจอตัวนกเค้าใหญ่พันธุ์เนปาลให้จงได้

ความที่ผมเที่ยวถามข่าวคราวของมันไปทั่ว เลยกลายเป็นหนึ่งในกุญแจความสำเร็จ

เมื่อ "ไกด์เอ" ไกด์ชื่อดังแห่งเขาใหญ่ ได้ข่าวล่าสุดของนกเค้าใหญ่พันธุ์เนปาลจากชาวบ้านตีนเขาใหญ่ เป็นช่วงที่ผมเดินทางไปเขาสอยดาว จ.จันทบุรี พอดี

การไปเขาสอยดาว ในเดือนพฤษภาคม ก็เป็นหนึ่งในวิธีการ เพราะจากซีดีเสียงนกที่มีขายกัน เสียงนกเค้าใหญ่พันธุ์เนปาลแห่งเขาสอยดาว ถูกบันทึกไว้ได้ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม

แม้จะเป็นเรกคอร์ดเก่าแก่นานมาแล้ว แต่มันก็เป็นเบาะแสว่านี่น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ถูกต้อง การที่นกส่งเสียงร้อง จะช่วยให้ง่ายต่อการส่องหาตัว

อย่างไรก็ตาม ไม่มีวี่แววของนกเค้าใหญ่พันธุ์เนปาลที่เขาสอยดาว ผมค้างคืนเดียวก็ตีรถรวดเดียวจากเมืองจันท์มาขึ้นเขาใหญ่ฝั่งปราจีนฯ ขับทะลุไปลงฝั่งปากช่อง

ไกด์เอพาผมเข้าไปค้นหานกในพื้นที่ปิดของเอกชน นอกเขตอุทยาน เรารอตั้งแต่ 5 โมงเย็นแดดแจ๋

พอ 6 โมงเย็น (ซึ่งแดดก็ยังสว่างอยู่ดี) นกเค้าใหญ่พันธุ์เนปาลก็ปรากฏตัวขึ้นมาอย่างปุบปับ บนเนินเขาสูงชัน

ผมตื๊อกับมันอยู่นานนับชั่วโมง พอเริ่มมืด นกก็ร่อนถลาในลีลาเดียวกับเหยี่ยวหรืออินทรี ลงมาจับกิ่งต่ำลง แม้แสงจะหรี่โรยเต็มที่ ก็ยังพอถ่ายติดเงารูปร่างของมันได้ชัดเจน

จุดเด่นของนกตัวนี้ คือขนาดตัวอันใหญ่โตที่สุด เป็นพี่ใหญ่ในหมู่นกกลางคืนทั้งหมดในเมืองไทย คือยาวถึง 61 ซ.ม. พร้อมด้วยลำตัวบึกบึน จะงอยปากกับกรงเล็บใหญ่โตน่าเกรงขาม

แต่สิ่งที่ใครเห็นก็ประทับใจสุดๆ คือ ขนหูหรือเขายาวๆ ที่ไม่มีใครยาวเท่า

มันได้ชื่อว่าเป็นนกอินทรีในหมู่นกกลางคืน เหยื่อของมันล้วนแต่มีขนาดใหญ่กว่าใคร เช่น ไก่ป่า ไก่ฟ้า นกยูง กระต่ายป่า แม้แต่ลูกเก้ง

น้องไกด์ ลูกชายวัย 5 ขวบของไกด์เอ ยกกล้องไบน็อกส่องดูกับตาตัวเอง ถึงกับร้องลั่นออกมาอย่างตื่นเต้นว่า "นกฮูกควาย!"

ถึงนกเค้าใหญ่พันธุ์เนปาล จะไม่ใช่นกกลางคืนที่หายากที่สุด

แต่ผมเชื่อว่านักดูนกหลายคน อยากเจอมันมากกว่าตัวอื่นที่หายากกว่า!

หน้า 7

http://www.matichon.co.th/khaosod/view_news.php?newsid=TUROb1lYQXdOVE14TURVMU1nPT0=&sectionid=TURNeE53PT0=&day=TWpBd09TMHdOUzB6TVE9PQ==

ลด"โลกร้อน" อย่างเป็นธรรม

วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 19 ฉบับที่ 6758 ข่าวสดรายวัน


ลด"โลกร้อน" อย่างเป็นธรรม


สุจิต เมืองสุข




การรณรงค์ลดภาวะโลกร้อนทั่วโลกยังคงมีอย่างต่อเนื่อง เพราะความเปลี่ยนแปลง ของสภาพภูมิอากาศเป็นไปอย่างแปรปรวน และ รุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความเสียหายของสิ่งแวดล้อม ตลอดจนชีวิตและทรัพย์สิน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนที่มีฐานะยาก จน เป็นพวกรากหญ้า และกลุ่มคนชายขอบ ที่ไร้การเหลียวแล

การรณรงค์สร้างความร่วมมือระหว่างประ เทศในการลดภาวะโลกร้อน มีกรอบการปฏิบัติ งานภายใต้พิธีสารเกียวโต อันเป็นข้อผูกพันทางกฎหมายในการดำเนินการ เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายการรับมือกับภาวะโลกร้อน ตาม อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ United Nations Frame work Convention on Climate Change (UNFCCC)

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่ม 169 ประเทศ ที่ร่วมสัตยาบันลดภาวะโลกร้อน แม้ว่าไทยจะไม่ใช่ประเทศหลักที่เป็นเป้าหมายสำคัญของพิธีสารเกียวโต ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ประเทศพัฒนาแล้ว ให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กลุ่มตัวแทนชาวบ้านรากหญ้า จากหลากหลายอาชีพ ทั้งประมง ชาวเขา เกษตรกร เครือข่ายคัดค้านเขื่อน และเครือข่ายพลังงานทางเลือก เป็น ต้น มารวมกลุ่มกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมอง ในนามของ "เสียงที่หายไป"



โดยตั้งประเด็นว่า "แก้โลกร้อน ปิดไฟ ใช้ถุงผ้า ตั้งโรงไฟฟ้านิว เคลียร์ ปลูกป่าขาย เรากำลังเดินถูกทางแล้วหรือ?"

ก่อนที่แต่ละกลุ่มและเครือข่ายจะสรุปความเห็นและข้อเสนอแนะต่อผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นประเด็นที่เห็นขัดแย้งกับโครงการลดภาวะโลกร้อนทั้งหลาย ไม่ว่าจะจากภาครัฐหรือเอกชน ที่ทำกันอยู่ในขณะนี้

แต่ทั้งหมดล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธมิได้

น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง กลุ่มรณรงค์และศึกษามลภาวะอุตสาหกรรม และเครือข่ายลดโลกร้อนอย่างเป็นธรรม ระบุว่า การแก้ปัญหาโลกร้อนที่ผ่านมา ภาคประชาชนไม่ มีโอกาสเข้าร่วม ในการกำหนดนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งถูกกำหนดโดยคนเพียงกลุ่มเดียวในภาครัฐ และภาคธุรกิจที่มีผลประโยชน์ ทั้งยังมีแนวโน้มว่าผลของนโยบายจะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น

ประเด็นสำคัญที่เครือข่ายทั้งหมดเป็นห่วง คือในเดือนธันวาคมที่จะถึง จะมีการจัดการประชุมของ UNFCCC ที่จะกำหนดสาระสำคัญ เพื่อใช้เป็นกฎหมายระหว่างประเทศในการแก้ปัญหาโลกร้อน แต่ในความเป็นจริงยังไม่พบว่าจะช่วยให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จริง



น.ส.เพ็ญโฉมชี้ว่า ตรงกันข้ามกลับกลายเป็นกลไกตลาดเสรี เพื่อเป็นเครื่องมือให้ประเทศที่พัฒนาแล้ว ผลักดันความรับผิดชอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศตนเอง แต่กลับก่อก๊าซเรือนกระจกขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนาแทน

ด้าน นางผา กองธรรม ตัวแทนสมัชชาคนจน กลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์ป่าทามแม่น้ำมูน จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า รัฐและภาคธุรกิจมักมองวิธีลดโลกร้อน ด้วยการสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้า โดยไม่มองว่าโครงการขนาดใหญ่มีผลต่อทรัพยากรธรรมชาติ เป็นการทำลายป่าไม้ และทำลายระบบเกษตรพื้นบ้าน ซึ่งเป็นฐานทรัพยากรด้านอาหาร และเป็นฐานสำคัญของการรักษาระบบนิเวศ และความอุดมสมบูรณ์ของป่า

ดังนั้น รัฐควรพิจารณาทุกโครงการ ที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวด ล้อม ควรเก็บภาษีจากโครงการขนาดใหญ่มาให้กับกลุ่มคน หรือชุมชนที่เสียประโยชน์ด้วย

ขณะที่ นายนวพล คีรีรักษ์กุล เครือ ข่ายชนเผ่า จ.เชียงใหม่ รวบรวมข้อเสนอภายในกลุ่มมานำเสนอว่า ไม่เห็นด้วยกับกลไกตลาดที่นำมาใช้ในการจัดการป่า เนื่อง จากการจัดการทรัพยากรธรรม ชาติต้องให้อำนาจสิทธิกับชุมชน ควรปลดล็อกบางข้อบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดการระบบโฉนดชุมชน และการให้สิทธิกับชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรม ชาติในชุมชน

จากนั้นไปทางเครือข่ายชาวบ้านต่างๆ จะรวบรวมข้อมูลให้กับคณะทำงานลดโลกร้อนอย่างเป็นธรรม ที่จัดตั้งขึ้นมาเป็นการเฉพาะกิจ เพื่อเป็นตัวแทนนำข้อสรุปทั้งหมดที่ได้ยื่นต่อรัฐบาลและผู้แทน ที่เข้าร่วมเจรจาในการประชุม UNFCCC ในเดือนธันวาคมนี้

พร้อมทั้งยังรวบ รวมความเห็นในส่วน ของภาครัฐและภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ที่จะ ได้หลังจากเชิญให้ร่วมรับฟังมุมมองจากภาคประชาชน ในการจัดการลดก๊าซเรือนกระจกที่จะมีขึ้นในเดือนกันยายน

น.ส.เพ็ญศรี สรุปว่า การยื่นหนังสือต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยว ข้อง หรือผู้แทนการเจรจาในเวที UNFCCC เพื่อต้องการกระตุ้นให้ผู้มีส่วนรับผิดชอบ และเปิดกว้างรับฟังความเห็นในภาคประชาชนเท่านั้น ไม่ได้คาดหวังจะเปลี่ยนแปลงข้อตกลงระหว่างประเทศ

แต่ที่สำคัญที่สุดคือ คนไทยด้วยกันต้องรับฟังความเห็น และนำไปปรับให้เข้ากับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นส่วนหนึ่งของการลด ภาวะโลกร้อน และต้องเป็นธรรมกับกลุ่มชาวบ้านระดับล่างด้วย

หน้า 5
 
 

เห็ดประหลาด คล้ายปลาหมึก

วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 19 ฉบับที่ 6758 ข่าวสดรายวัน


เห็ดประหลาด คล้ายปลาหมึก


คอลัมน์ เป็นไปได้






มีเรื่องประหลาดที่ จ.มุกดาหาร เมื่อชาวบ้านร่ำลือกันว่าพบเห็ดขึ้นในลักษณะเหมือนหนวดปลาหมึก แถมยังมีกลิ่นคาวรุนแรงคล้ายกลิ่นปลาหมึกอีกด้วย

นายวิทยา นานาวัน อายุ 52 ปี อยู่บ้านเลขที่ 40 ถนนวงค์คำพา อ.เมือง จ.มุกดาหาร เจ้าของบ้านที่พบเห็ดปลาหมึกประหลาด เล่าว่า เห็ดที่เกิดขึ้นในกระถางต้นวาสนาที่วางอยู่บริเวณข้างบ้านนั้น ภรรยาคือนางสุกัญญา นานาวัน อายุ 49 ปี ออกไปรดน้ำต้นวาสนาดังเช่นทุกเช้าและพบเห็นมีสิ่งประหลาดโผล่ขึ้นมามีลักษณะคล้ายกับหนวดปลาหมึกอยู่ติดกับโคนต้นวาสนา สูงประมาณ 7-8 นิ้ว โผล่ชูหนวดขึ้นมาประมาณ 8-9 หนวด แถมยังมีน้ำคล้ายน้ำเมือก

ด้วยความสงสัยจึงใช้ไม้เสียบลูกชิ้นเขี่ยดูปรากฏว่าก้านของดอกเห็ดหนวดปลาหมึกได้หักลงมา 2-3 ก้าน เป็นที่ประหลาดใจเป็นอย่างมาก หากเป็นหนวดปลาหมึกก็จะต้องอ่อนและติดไม้เสียบลูกชิ้นออกมาแล้ว เมื่อถามคนในละแวกบ้านดูก็บอกว่าน่าจะเป็นเห็ดอะไรสักอย่างหนึ่ง

ในช่วงสายประมาณ 08.00 น. ทุกวันก็จะเริ่มมีกลิ่นคาวรุนแรงคล้ายกลิ่นปลาหมึก แต่ในละแวกนั้นก็มีสุนัขวิ่งเล่นอยู่ในบริเวณดังกล่าวหลายตัวกลับไม่ได้สนใจกับกลิ่นคาวของเห็ดดังกล่าว จึงทำให้สงสัยว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นน่าจะเป็นอะไรสักอย่าง

นายวิทยา บอกอีกว่า ก่อนหน้านี้ฝันเห็นงูสีปีกแมลงทับเขียวมรกตขนาดใหญ่ 3 ตัว ตัวโตมีขนาดเท่ากับเสาเรือน ตัวกลางมีขนาดเท่ากับต้นขา และตัวเล็กมีขนาดเท่าลำแขนลดหลั่นกันไป ในฝันนั้นบอกว่างูทั้ง 3 ตัวเป็นผัวเมียและลูกได้มาเกี่ยวพันกันอยู่ในขื่อภายในบ้านแต่ก็ไม่ได้ฝันอะไรต่อไปอีก จึงทำให้สงสัยว่าจะเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้หรือไม่

เช่นเดียวกับนางจรูญ ถาวร อายุ 35 ปี บ้านอยู่ติดกันก็ฝันเห็นงูสีดำออกเขียว 1 ตัวขนาดใหญ่มากเลื้อยมาแถวบ้านแต่ก็ไม่ได้ทำร้ายคน นับว่ามีความแปลกประหลาดอย่างมากที่ฝันเห็นในลักษณะคล้ายกัน

เพื่อความสบายใจของชาวบ้านจึงนำดอกไม้ธูปเทียนมาบูชาเพื่อให้สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นเหตุที่ดีแก่ครอบครัวและชุมชน

นายสมคิด ทองจันทร์ อายุ 45 ปี กล่าวว่า เหตุที่เกิดขึ้นนับว่ามีความประหลาดมาก โดยเจ้าของบ้านก็ได้ฝันว่ามีงูใหญ่ 3 ตัว คนข้างบ้านก็ฝันเห็นงูใหญ่ 1 ตัวเช่นเดียวกัน ก่อนจะมาพบปรากฏการณ์ของเห็ดประหลาดที่เกิดขึ้นบริเวณโคนต้นวาสนา

สิ่งที่เกิดขึ้นนับว่าเป็นความประหลาดแก่ผู้ที่พบเห็นเป็นอย่างมาก แต่ยืนยันว่าสิ่งที่พบนั้นไม่ใช่หนวดปลาหมึกอย่างแน่นอน

หน้า 28
 

ลำดับโครงการ"ให้เช่าที่ดิน" สรุป 5 ปีรับสิทธิแล้ว 4 หมื่นครัว

วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11404 มติชนรายวัน


ลำดับโครงการ"ให้เช่าที่ดิน" สรุป 5 ปีรับสิทธิแล้ว 4 หมื่นครัว





หมายเหตุ : เป็นคำชี้แจงความเป็นมาของการดำเนินโครงการตามนโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจน ในแผนปฏิบัติการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ กรณีมีการบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งคณะทำงานของนายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย กำกับดูแลกรมที่ดิน จัดทำขึ้นเพื่อชี้แจงผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ภายหลังจากนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทย และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ประธานที่ปรึกษา รมว.มหาดไทย ออกมาทักท้วงโครงการดังกล่าวและให้ชะลอออกไป จนถูกมองว่าเป็นความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล

1.ความเป็นมาของโครงการ

กระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้กรมที่ดินดำเนินการจัดที่ดินทำกินและอยู่อาศัยเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2547-2550 มีเป้าหมายดำเนินการจำนวน 2,500 แปลง, 9,200 แปลง, 9,200 แปลง และ 9,100 แปลงตามลำดับ รวม 30,000 แปลง และในปี พ.ศ.2551-2552 กำหนดเป้าหมายการดำเนินการจำนวน 9,100 แปลง กรมที่ดินได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ กรณีมีการบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน โดยคัดเลือกแปลงที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนเลิกใช้ประโยชน์ร่วมกัน และมีผู้บุกรุกเต็มแปลงหรือบางส่วน ซึ่งผู้บุกรุกดังกล่าวต้องเป็นผู้ยากจนไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง หรือมีน้อยแต่ไม่เพียงพอ และยอมรับการดำเนินการตามนโยบายแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ และได้ลงทะเบียนแสดงความประสงค์ขอที่ดินทำกินไว้ต่อทางราชการแล้วมาดำเนินการจัดที่ดินให้ตามสภาพเดิมที่ครอบครองอยู่ ครอบครัวละไม่เกิน 15 ไร่ พร้อมทั้งออกหนังสืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ และเสียค่าตอบแทน ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการอนุญาตให้ประชาชนใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ พ.ศ.2547 ลงนามโดยนายโภคิน พลกุล รมว.มหาดไทยในขณะนั้น

2.แนวทางการดำเนินงาน

กระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้กรมที่ดินรับผิดชอบดำเนินการตามแผนปฏิบัติการบริหารจัดการที่ดินของรัฐกรณีมีการบุกรุกที่ดินสาธารณประโยชน์ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน โดยให้จังหวัดเป็นผู้จัดส่งโครงการให้กรมที่ดินตรวจสอบ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณแผ่นดินจากกรมที่ดินสำหรับค่าใช้จ่ายในการรังวัดตรวจสอบหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (นสล.) ค่าใช้จ่ายในการรังวัดวางผังแปลงที่ดินและการจัดทำสาธารณูปโภค ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการ ดังนี้

2.1 คัดเลือกแปลงที่ดินสาธารณประโยชน์ที่มีหลักฐาน นสล.หรือยังไม่มีหลักฐาน นสล. แต่สามารถดำเนินการออก นสล.ไปในคราวเดียวกันที่ประชาชนเลิกใช้ประโยชน์ร่วมกัน และมีผู้บุกรุกเต็มแปลงหรือบางส่วน โดยให้อำเภอ/กิ่งอำเภอจัดทำโครงการจัดที่ดินเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณาอนุมัติ

2.2 ผู้บุกรุกดังกล่าวต้องเป็นผู้ยากจนไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง หรือมีแต่น้อยไม่เพียงพอ

2.3 ผู้บุกรุกต้องยอมรับการดำเนินการตามนโยบายการแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนเชิงบูรณาการ และได้ลงทะเบียนแสดงความประสงค์ขอที่ดินทำกินไว้ต่อทางราชการแล้ว

2.4 ให้อำเภอ/กิ่งอำเภอ ตรวจสอบคุณสมบัติผู้บุกรุกว่าเป็นผู้อยู่ในหลักเกณฑ์และจัดทำประชาคม เพื่อตรวจสอบว่าบุคคลดังกล่าวยากจนและไม่มีที่ดินทำกินหรือมีแต่ไม่เพียงพอ

2.5 ดำเนินการจัดที่ดินให้ตามสภาพเดิมที่ครอบครองอยู่ (ไม่เกินครอบครัวละ 15 ไร่) โดยพิจารณาจากจำนวนสมาชิกในครอบครัว อาชีพ ความสามารถในการผลิตของครัวเรือน

2.6 ออกหนังสืออนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐ และเสียค่าตอบแทนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในอัตราไร่ละไม่เกิน 1,000 บาท (โดยส่วนใหญ่ อปท.ได้กำหนดไร่ละ 10, 20 หรือ 100 บาท/ไร่/ปี)

2.7 หนังสืออนุญาตคราวละ 5 ปี และต่ออายุการอนุญาตได้

2.8 กรณีผู้ได้รับอนุญาตถึงแก่กรรม ให้ทายาทโดยธรรมมีสิทธิที่จะขอใช้ที่ดินนั้นก่อนบุคคลอื่น โดยให้แจ้งความประสงค์ภายใน 90 วัน นับแต่ผู้รับอนุญาตถึงแก่กรรม

ระหว่างปีงบประมาณ 2547-2551 ให้สิทธิเช่าแล้ว 42,240 ครัวเรือน จำนวน 51,225 แปลง แยกเป็น

ปี 2547 จัดที่ดินในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ชัยนาท นครราชสีมา นครสวรรค์ ปัตตานี พิษณุโลก ยะลา ร้อยเอ็ด สงขลา สุพรรณบุรี และสุรินทร์ จัดได้ 3,268 ครัวเรือน จำนวน 3,829 แปลง

ปี 2548 จัดที่ดินในพื้นที่ 27 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี กาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น ชลบุรี เชียงใหม่ เชียงราย ตรัง นครปฐม นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ นราธิวาส พะเยา พิจิตร พัทลุง พิษณุโลก ร้อยเอ็ด ราชบุรี ลพบุรี ลำพูน ศรีสะเกษ สกลนคร สงขลา สตูล สุราษฎร์ธานี อุบลราชธานี และมหาสารคาม จัดได้ 10,118 ครัวเรือน จำนวน 12,155 แปลง

ปี 2549 จัดที่ดินในพื้นที่ 27 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น เชียงราย ชัยภูมิ ชุมพร ตาก นครพนม นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ปัตตานี แพร่ พิจิตร พิษณุโลก มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ลำพูน ลพบุรี ศรีสะเกษ สงขลา สุโขทัย สุพรรณบุรี สุรินทร์-หนองคาย อุดรธานี อุบลราชธานี อุทัยธานี และอุตรดิตถ์ จัดได้ 10,521 ครัวเรือน จำนวน 13,280 แปลง

ปีงบประมาณ 2550 จัดที่ดินในพื้นที่ 24 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น จันทบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ราชบุรี ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ แม่ฮ่องสอน สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ สุโขทัย สงขลา อุดรธานี อุตรดิตถ์ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี จัดได้ 10,166 ครัวเรือน จำนวน 12,075 แปลง

ปี 2551 จัดที่ดินในพื้นที่ 21 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ พระนครศรีอยุธยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ร้อยเอ็ด ราชบุรี เลย สงขลา สุรินทร์ ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู อุดรธานี อุตรดิตถ์ และจังหวัดอุทัยธานี จัดได้ 8,157 ครัวเรือน จำนวน 9,886 แปลง

ปี 2552 ขณะนี้มีจังหวัดจัดส่งโครงการให้กรมที่ดินพิจารณา รวม 27 จังหวัด ได้แก่ กำแพงเพชร ขอนแก่น ชัยนาท เชียงราย เชียงใหม่ ชุมพร นครปฐม นครศรีธรรมราช นครราชสีมา น่าน บุรีรัมย์ พะเยา พิษณุโลก เพชรบูรณ์ มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สงขลา สุโขทัย สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุดรธานี อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี

ขณะนี้กรมที่ดินได้อนุมัติโครงการจำนวน 6,448 แปลง อยู่ระหว่างเสนอกรมที่ดินพิจารณา 1,040 แปลง คาดว่าจะจัดส่งโครงการให้กรมที่ดินพิจารณาอีก 2,256 แปลง ในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด เลย และศรีสะเกษ คาดว่าในปีงบประมาณ 2552 จะดำเนินการจัดที่ดินให้แก่ราษฎรได้ทั้งสิ้น 9,744 แปลง

3.ปัญหา-อุปสรรค

3.1 ราษฎรผู้ยากจน กลุ่มเป้าหมายที่รัฐจะแก้ไขปัญหาให้ เรียกร้องจะขอรับแต่เอกสารสิทธิในที่ดินเท่านั้น ทั้งๆ ที่ยอมรับในเบื้องต้นแล้วว่าเข้าอยู่อาศัยในที่สาธารณประโยชน์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องทำความเข้าใจกับราษฎรเหล่านี้ให้ยอมรับการดำเนินการจัดที่ดินตามโครงการดังกล่าว

3.2 ราษฎรผู้ยากจนที่ต้องการได้ที่ดินทำกินมีจำนวนมาก แต่ทรัพยากรที่จะนำมาดำเนินการมีจำนวนจำกัด ต้องนำมาใช้ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง โดยคำนึงถึงการอนุรักษ์ไว้เพื่อการใช้ประโยชน์ร่วมกันในอนาคตด้วย ประกอบกับแปลงที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ดำเนินการอยู่อย่างกระจัดกระจายบางแปลงมีแนวเขตไม่ชัดเจน

3.3 โครงการนี้เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน จำเป็นต้องเน้นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลสำเร็จของโครงการ และประโยชน์แก่ราษฎรผู้ยากจน

3.4 การดำเนินการจัดที่ดินดำเนินการในพื้นที่ที่มีการบุกรุก การดำเนินการรังวัดแบ่งแปลงและการจัดทำสาธารณูปโภคต้องได้รับความยินยอมจากผู้บุกรุกด้วย

3.5 ในการดำเนินการจัดที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ในช่วงไตรมาสที่ 1 และที่ 2 เป็นระยะเวลาเริ่มต้นโครงการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณประโยชน์ที่มีการบุกรุกเพื่อขจัดความยากจนและพัฒนาชนบท โดยอำเภอ/กิ่งอำเภอ จะดำเนินการสำรวจและคัดเลือกแปลงที่ดินซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากราษฎรในพื้นที่ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เมื่อได้รับความเห็นชอบจึงเสนอโครงการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดอนุมัติ จากนั้นจึงส่งเรื่องให้กรมที่ดินพิจารณาและจัดสรรงบประมาณให้จังหวัดดำเนินการ โดยให้สำนักงานที่ดินจังหวัด/สาขา เป็นหน่วยงานสนับสนุนในการรังวัดและจัดทำข้อมูลรายแปลง สำหรับผลการดำเนินการจะนับเมื่อสำนักงานที่ดินจังหวัด/สาขา ได้ดำเนินการรังวัดวางผังแบ่งแปลงและส่งผลการรังวัดให้อำเภอ/กิ่งอำเภอ ดำเนินการต่อไป โดยในขั้นตอนการดำเนินการรังวัดบางพื้นที่เกิดปัญหาอุปสรรค เนื่องจากสภาพพื้นที่และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีฝนตกซุก ซึ่งในภาพรวมทั้งหมด งานดังกล่าวจะดำเนินการแล้วเสร็จตามเป้าหมายภายในไตรมาสที่ 3 และที่ 4 ของปีงบประมาณ

4.แนวทางการแก้ไข

การบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ในที่ดินของรัฐเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและพัฒนาชนบท ควรให้ผู้ปกครองท้องที่ในพื้นที่ชี้แจงทำความเข้าใจถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ราษฎรได้รับทราบว่าทางราชการไม่สามารถออกเอกสารสิทธิให้แก่ผู้ที่อยู่ในที่สาธารณประโยชน์ได้อย่างแน่นอน แต่การเข้าร่วมโครงการราษฎรจะเป็นผู้ได้รับอนุญาตตามกฎหมายให้อยู่ในที่สาธารณประโยชน์ โดยทางราชการออกหนังสืออนุญาตให้เป็นหลักฐาน และจะดำเนินการในที่ที่มีการบุกรุกแล้วเท่านั้น และจำกัดเนื้อที่ซึ่งอนุญาตครอบครัวละไม่เกิน 15 ไร่ หากถือครองเนื้อที่เกินจะต้องยอมคืนเพื่อนำไปจัดให้กับครอบครัวอื่น โดยจะไม่นำที่สาธารณประโยชน์ที่ไม่มีการบุกรุกมาดำเนินการแต่อย่างใด

5.แนวทางการเสริมสร้างความเป็นอยู่ของประชาชนในโครงการ

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ กระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาเห็นชอบให้มีการบูรณาการร่วมกันอย่างจริงจังของทุกหน่วยงานไม่ว่าจะอยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทยหรือกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยแจ้งให้หน่วยงานดังกล่าวให้การสนับสนุนโครงการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณประโยชน์ที่มีการบุกรุก เพื่อขจัดความยากจนและพัฒนาชนบท และพิจารณาจัดทำโครงการสนับสนุนให้มีการต่อยอดโครงการ

เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับการจัดที่ดินไปแล้วสามารถใช้ประโยชน์ในที่ดินได้จริงและใช้ที่ดินได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

หน้า 2
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01p0103310552&sectionid=0101&day=2009-05-31

"เสือตัวเมีย"

วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11404 มติชนรายวัน


"เสือตัวเมีย"


โดย ปริญญากร วรวรรณ




ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ทีม "จับเสือ" ของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ก็จับเสือโคร่งได้อีกหนึ่งตัว

คราวนี้เสือโคร่งที่พลาดเข้ามาติดกับดักเป็นเสือตัวเมีย น้ำหนักของมันเพียงหนึ่งร้อยกับ 2 กิโลกรัม ค่อนข้างผอม แต่ด้วยโครงสร้างของลำตัวซึ่งค่อนข้างใหญ่ จึงไม่ได้ทำให้ความน่าเกรงขามในความเป็นเสือลดลงแต่อย่างใด

การใช้พื้นที่ของตัวเมียนั้นน้อยกว่าตัวผู้มาก การติดตามพฤติกรรมของมันจะทำได้ง่ายกว่า นี่คือเหตุผลหนึ่งที่เรายินดีมากเมื่อพบว่าเป็นเสือตัวเมีย

อีกทั้งข้อมูลจากดาวเทียมซึ่งเราได้รับทราบเส้นทางเดินของเสือโคร่งตัวผู้สองตัวที่เราจับได้ก่อนหน้า ยิ่งทำให้รู้ว่าพวกมันใช้พื้นที่กว้างขวางมากเพียงไร

ได้ใกล้ชิดเสือโคร่งตัวผู้มาแล้วสองตัว

พวกมันทำให้ผมรับรู้หลายสิ่ง

แต่สำหรับเสือตัวล่าสุดซึ่งเป็นเสือตัวเมีย "เธอ" ทำให้ผมรู้จักเสือมากขึ้นกว่าเดิม

ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม สายฝนในผืนป่าด้านตะวันตกก็ดูเหมือนจะไม่เคยหยุดโปรยปราย โดยเฉพาะช่วงเวลาบ่ายๆ ระดับน้ำในลำห้วยเริ่มขุ่นแดง และเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเหตุการณ์ปกติ ซึ่งรถยนต์ไม่สามารถแล่นข้ามลำห้วยทับเสลาซึ่งขวางพวกเราไว้กับโลกภายนอกก็เกิดขึ้นบ่อยๆ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรในช่วงฤดูฝน

บริเวณสำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข็ง มีชายฉกรรจ์ในชุดลายพรางป่าไม้เดินขวักไขว่

พวกเขาคือเหล่าพนักงานพิทักษ์ป่า และพนักงานราชการจากหน่วยพิทักษ์ป่าภายในเขตที่เข้ามารับการฝึกอบรมการลาดตระเวนเพิ่มเติม

"คราวนี้เราเน้นเรื่องการตรวจหาหลักฐานต่างๆ ของคนที่แอบเข้ามายิงสัตว์ครับ"

ดร.อนรรฆ พัฒนวิบูลย์ ผู้อำนวยการสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย ร่วมมือกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จัดอบรมทักษะให้กับชุดลาดตระเวน

"ถึงจะไม่พบตัวผู้เข้ามาล่า แต่วัสดุต่างๆ ที่เราพบในปางพักหรือทางด่าน เช่น ก้นบุหรี่ ยาเส้น ขวดเหล้า ฯลฯ เราอบรมให้พวกเขาจัดเก็บโดยยังคงร่องรอยนิ้วมือไว้ รวมทั้งปลอกกระสุนปืนด้วยครับ"

ลายนิ้วมือ หรือคราบน้ำลายเหล่านั้น นำไปตรวจสอบกับฐานข้อมูลสอบหาตัวบุคคลได้

"นอกจากนั้นพวกครูซึ่งเป็นตำรวจตระเวนชายแดนยังเน้นเรื่องการสืบสวนหาข่าวหรือเส้นทางการค้าเนื้อสัตว์ป่าและของป่าอื่นๆ ด้วย" ผู้อำนวยการ WCS ประเทศไทยย้ำ

ถึงวันนี้ถึงแม้ว่าการล่าสัตว์ป่าจะไม่เคยหยุดยั้ง

การพยายามเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันดูแลสัตว์ป่าก็ไม่เคยหยุดยั้งเช่นกัน

05.00 นาฬิกา

จันทร์ข้างแรมเสี้ยวบางๆ อยู่ในตำแหน่งขอบฟ้าด้านทิศตะวันออก

เสียงร้องเพลงให้จังหวะ ประกอบการวิ่งตัวหนักแน่น ครูฝึกปลุกเหล่าผู้เข้าอบรมขึ้นมาออกกำลังกายตั้งแต่เช้ามืด พร้อมๆ กับทีมของเราที่ออกเดินทางไปทำงาน

เส้นทางลำลองซึ่งได้รับการปรับปรุงเมื่อฤดูแล้งที่ผ่านมา กลับเข้าสู่สภาพเดิม

ร่องลึกลื่นไถล รวมทั้งเสียงกิ่งไม้ครูดข้างรถ และเสียงเครื่องยนต์ คือสิ่งที่ดังแทรกความเงียบเวลาเช้าตรู่

เป็นเวลากว่าเดือนมาแล้วที่เราอยู่กับบรรยากาศเช่นนี้ 2 สัปดาห์ก่อนเราย้ายฐานจากแคมป์บริเวณป่าดินที่ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากอาณาเขตทับซ้อนของเสือโคร่งตัวผู้ 2 ตัว แคมป์ใหม่อยู่ไม่ไกลจากสำนักงานเขต เราจึงได้พบปะกับคนอื่นบ้าง

พิทักษ์ป่าหลายคนผู้เข้ามาฝึกอบรม ผมคุ้นเคยกับพวกเขาดี สุริยา ผู้เพิ่งสอบบรรจุเป็นพนักงานราชการทำงานอยู่ทางโซนใต้ได้รับรางวัลภาพถ่ายยอดเยี่ยม เขาถ่ายรูปวัวแดงและกระทิงรวมฝูงกันเล็มหญ้าในโป่งใหญ่ โดยกล้องดิจิตอลซึ่งได้รับแจกเป็นอุปกรณ์ประจำ นอกเหนือจากเป้และเครื่องนอน สุริยาได้รับรางวัลเป็นมีดเดินป่าอันขึ้นชื่อของจังหวัดอุทัยธานี

ภาพวัวแดงฝูงใหญ่ บอกให้พวกเขารู้ว่า

การทุ่มเทอย่างเอาจริง ไม่สูญเปล่าเท่าใดนัก

14.30 นาฬิกา

ผ่านมาแล้วกว่า 6 ชั่วโมง เสือโคร่งตัวเมียซึ่งฟื้นจากฤทธิ์ยาสลบตั้งแต่ 2 ชั่วโมงก่อนยังไม่ไปไหนไกล มันลุกขึ้นนอนหมอบมองซ้ายขวา และทำท่าราวกับว่าต้องการพักผ่อนอยู่เช่นนั้นอีกนาน

ในตอนแรกที่เริ่มฟื้น มันมองผ่านผมไปราวกับผมไม่มีตัวตน ไม่มีเสียงขู่คำราม ไม่มีอาการแยกเขี้ยว หรือท่วงท่าคุกคาม

ผมอยู่ห่างจากมันสัก 2 เมตร ระหว่างเสือกับผมมีต้นไม้ขนาดโคนขาเป็นที่กำบัง

ประสบการณ์จากการเฝ้าเสือโคร่งตัวผู้มาสองตัวบอกผมว่า หลังจากฟื้นพอปรับตัวได้ มันจะรีบผละไปในทันที

แต่เสือตัวเมียไม่ได้ทำเช่นนั้น

ในระยะห่างแค่นั้น มันเพียงนั่งมองผมเฉยๆ ด้วยเลนส์ 35 มิลลิเมตร ผมถ่ายรูปไปเรื่อยๆ เสือลุกขึ้นยืนท่าทางแข็งแรง ผมก้าวเท้าไปข้างหน้าหนึ่งก้าว

นาทีนั้น เสียงขู่คำราม และอาการแยกเขี้ยวเริ่มต้นขึ้น ที่จริงผมเข้าใจดีว่า นั่นคืออาการเตือนว่าผมอยู่ในระยะที่เสือไม่อนุญาตแล้ว

และในทันทีที่ผมก้าวมาข้างหน้าอีกหนึ่งก้าว

เสือคำรามเสียงดังและกระโจนเข้าหา

15.00 น.

เสือจากไป เสียงสัญญาณวิทยุเบาลง ถึงแม้เราจะติดตามความเคลื่อนไหวของมันได้ แต่ผมก็ไม่แน่ใจนักหรอกว่าจะมีโอกาสพบหน้าอย่างใกล้ชิดเช่นนี้อีกหรือไม่

นี้เป็นเสือโคร่งตัวเมียตัวแรกที่ผมได้อยู่อย่างใกล้ชิด และให้บทเรียนว่าการรักษา "ระยะห่าง" ระหว่างชีวิตจำเป็นเพียงไร

ว่าตามจริง การรักษาระยะห่างนี้ ผมพยายามปฏิบัติเสมอๆ

อีกนั่นแหละ หลายครั้งก็ผิดพลาด

ภายในระยะเวลาหนึ่งเดือน

ผมนั่งเฝ้าเสือโคร่ง 3 ตัว

ตัวล่าสุด เสือโคร่งตัวเมีย

บอกให้รู้ว่าสิ่งที่ควรจะ "เฝ้า" ให้ดีๆ นั้นไม่ใช่เสือ


หน้า 8

http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01way03310552&sectionid=0137&day=2009-05-31

ไปเหนือสุดของอินเดีย แคชเมียร์ สวรรค์บนดิน ?

วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11404 มติชนรายวัน


ไปเหนือสุดของอินเดีย แคชเมียร์ สวรรค์บนดิน ?


คอลัมน์ บันทึกเดินทาง

โดย สุภาพร หวานเสนาะ Vansanoh@hotmail.com




"โอกาส" มักจะเกิดขึ้นได้ไม่ง่ายนัก ดังนั้น หากมี "โอกาส" มาประชิดตัวเมื่อไหร่จงคว้าไว้ทันที

เหมือนครั้งนี้ที่มีโอกาสเดินทางไปเยือน "ทัชมาฮาล" 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก แถมพ่วงด้วย "แคชเมียร์" ดินแดนสวรรค์ที่ใครๆ ก็อยากไปเยือน แม้ว่าจะมีปัญหาทางด้านการเมืองอยู่ก็ตาม

เพราะอินเดียกับปากีสถานต่างก็อ้างสิทธิกันและกันในการเป็นเจ้าของแคชเมียร์

แคชเมียร์ (แคว้นจามมูนและแคชเมียร์) แคว้นที่มีภูมิประเทศสวยงามที่สุด โอบล้อมด้วยเทือกเขาหิมาลัย ซึ่งมีหิมะปกคลุมขาวโพลน เติมแต่งด้วยทะเลสาบงดงามทั้ง 2 ทะเลสาบ คือ "ทะเลสาบดาล" (อยู่ตรงข้ามมหาวิทยาลัยศรีนาคา) และทะเลสาบนาคิน

ก่อนจะบรรลุเป้าหมายแคชเมียร์ ก้าวแรกต้องสัมผัสกับนิวเดลีก่อน ซึ่งอุณหภูมิตอนนั้นความร้อนมากระทบผิวกายไม่ต่างจากเมืองไทยเท่าไรนัก กลับรู้สึกว่า ร้อนกว่าเสียด้วยซ้ำ

ออกจากสนามบินนานาชาติอินทิรา คานธี ก็ได้พบแหล่งเสื่อมโทรมต้อนรับนักท่องเที่ยวทันที แต่เพราะเตรียมตัวและเตรียมใจไปจากเมืองไทยแล้ว จึงไม่มีปริปากบ่นแต่อย่างใด กลับคิดว่า

"นี่ก็เป็นอีกรสชาติหนึ่งของชีวิต ที่ได้สัมผัสอินเดีย"

เรื่องราวเมืองหลวงของอินเดีย เขาจะแบ่งออกเป็นสองโซน-โซนแรกเรียก "โอลด์ เดลี" เป็นย่านเมืองเก่า มีชุมชนแออัดและขอทานมากมายนอนเรียงรายอยู่ตามผิวถนน ให้เห็นเป็นสัญลักษณ์ของโอลด์เดลีเลยทีเดียว ส่วนโซนเมืองใหม่เรียก "นิวเดลี" เป็นย่านที่ดูดี ไม่มีแหล่งเสื่อมโทรม แถมมีห้างสรรพสินค้าใหม่และใหญ่มากกำลังจะเปิดให้บริการ ยังแอบเห็นสินค้าแบรนด์ดัง อย่าง หลุยส์ วิตตอง เบเนตอง ฯลฯ สาขาจากยุโรปกำลังจะเปิดเอาใจสาวๆ ชาวเมืองแขกในเร็วๆ นี้



จากนิวเดลี มุ่งหน้าสู่เมือง "อัครา" ซึ่งเป็นที่ตั้งของทัชมาฮาล (ที่อยู่ห่างจากนิวเดลีประมาณ 150 กิโลเมตร แต่ใช้เวลาเดินทาง 5 ชั่วโมง)

อัครา เป็นเมืองที่คึกคักและเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวทั้งชาวอินเดีย และต่างชาติที่มุ่งไปชมความงามของอนุสรณ์แห่งความรักที่กษัตริย์ซาจาฮาล มีต่อพระมเหสีมุมตัส ด้วยงบประมาณการสร้างถึง 50,000,000 เหรียญอเมริกัน

อนุสรณ์แห่งความรักทัชมาฮาลตั้งตระหง่านอยู่ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา (ตอนไปน้ำแห้งขอด เดินข้ามไปอีกฝั่งได้) สร้างด้วยหินอ่อนสีขาวและหินทรายสีแดง ใช้เวลาก่อสร้างถึง 22 ปี เปิดให้เข้าชมทุกวัน

"ยกเว้นวันศุกร์ เพราะชาวฮินดูเขาจะสวดมนต์ ไหว้พระกัน" (ค่าเข้าชมต่างชาติคนละ 500 รูปี)

เสร็จสิ้นจากชมความงามอนุสรณ์แห่งความรัก คณะทัวร์ 41 ชีวิต ก็ต้องบินจากนิวเดลีไปยังสนามบินศรีนาคา (ที่บริหารจัดการ ควบคุมดูแลโดยฝายทหาร) ที่ทุกคนต้องตื่นเต้นกันเล็กน้อย เพราะเมื่อแอร์อินเดียแตะพื้นสนามบิน ต้องรอกันถึงเกือบชั่วโมงเพื่อรอให้ผู้โดยสารลงจากเครื่อง

"และเมื่อลงจากเครื่องบินแล้ว ต้องเดินเข้าสู่ที่ทำการสนามบิน โดยมีทหารดูแลควบคุม แต่พอเดินได้ไม่ถึง 20 ก้าว ทหารก็ให้คณะทัวร์หยุดเดิน เพราะมีเครื่องบินอีกลำกำลังรันเวย์มา ทุกคนต่างตกอกตกใจ และตื่นเต้นสนุกสนานกับการต้อนรับที่สุดแสนหวาดเสียวในครั้งนี้



การมาถึง "เมืองศรีนาคา" แน่นอนว่าต้องไปพักที่ "เฮาส์ โบ๊ท" House Boat หรือเรือบ้าน ที่เป็นมรดกตกทอดจากชาวอังกฤษในยุคล่าอาณานิคม

(ตอนนี้เป็นของเอกชน )

เรือบ้านนี้ได้รับการตกแต่งอย่างหรูหรา ส่วนหน้าของเรือหันเข้าหาเทือกเขาหิมาลัย มีทะเลสาบ "นาคิน" คั่นไว้ให้เห็นความงามยามเช้า

ส่วนหน้าของเรือบ้านมีไว้รับแขกที่พายเรือมาขายของที่ระลึก นอกจากนี้ มีห้องรับประทานอาหาร ห้องนั่งเล่นที่มีทีวีให้ดูข่าวสารกัน และส่วนหลังเป็นห้องนอน

ข้อมูลที่ได้รับทราบมีว่าคนไทยมาเที่ยวที่นี่ปีละไม่น้อย เพราะดื่มด่ำกับความงามและทิวทัศน์ของทะเลสาบนาคิน และการได้พักอาศัยในเรือบ้าน ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถตกปลาได้

ภูเขากุลมาร์ค (ชื่อเดิม เการิมาร์ค) ที่ต้องขับรถไต่เขาขึ้นไปผ่าน 500 โค้ง (เล็กๆ ไม่น่ากลัวเท่าแม่ฮ่องสอน) แต่เมื่อไปถึงความเหน็ดเหนื่อย ก็พลันหายไปหมด เพราะความงดงามของภูเขานี้ที่มีหิมะปกคลุมอยู่ และในวันที่ไปเยือนนั้น มีลมแรงมาก กว่าจะได้ขึ้นเคเบิลคาร์ไปสัมผัสหิมะขาวโพลนก็ต้องรอกว่าครึ่งชั่วโมง

"โซนามาร์ค" เป็นเมืองที่ต้องไต่เขาขึ้นไปด้วยความสูง 3,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล มีทิวทัศน์ของชาวชนบทของแคชเมียร์ มีเทือกเขาหิมาลัยเป็นฉากหลัง (ท้องถิ่นเรียกว่า ทาจิวาส) ซึ่งเป็นเขาที่มีหิมะปกคลุมตลอดทั้งปี อีกทั้งยังมีแม่น้ำสินธุ ลดเลี้ยวผ่านหุบเขาในอีกฟากถนน

เส้นทางนี้จึงเป็นไฮไลต์ของการเที่ยวครั้งนี้ และโซนามาร์คนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะมุ่งหน้าไปยัง "เมืองลาดัคห์" (ที่สวยงามอีกแห่งในแคชเมียร์) หรือที่รู้จัดกันดีในชื่อว่า "ประตูสู่ดาลัคห์"

"ไก๊ด์ท้องถิ่นเล่าให้ฟังว่า พวกเขามีรายได้จากอาชีพนี้เดือนละประมาณ 3,000-4,000 รูปี"

พวกเขาอยู่ได้เพราะค่าทิปจากนักท่องเที่ยว แต่บางรายต้องดูแลครอบครัวที่ใหญ่มาก จึงต้องพยายามหางานอื่นมาทำกัน แต่งานที่แคชเมียร์ค่อนข้างหายาก (ผลพวงจากความไม่สงบในแคว้น) ส่วนใหญ่ผู้ที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนาคา แล้วจะเข้าไปทำงานที่นิวเดลี

ที่แห่งนี้เดินไปทางไหนทุกสองเสาไฟฟ้าก็จะพบทหารรักษาการกันอยู่ แม้แต่จะออกไปนอกเมือง ทุก 1 กิโลเมตร ก็จะเห็นทหารยืนริมถนน ใต้ต้นไม้ รักษาการอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ชินตาแล้วสำหรับชาวแคชเมียร์ แต่กับนักท่องเที่ยวอาจจะดูขัดหูขัดตากันบ้าง

เนื่องจากเมืองนี้เต็มไปด้วยทหารนี้เอง จึงถามไก๊ด์ท้องถิ่นว่า มีจำนวนเท่าไร เขาบอกว่าไม่รู้จำนวนที่แน่นอน เพราะมีหลายเชื้อชาติ แต่บอกว่ารายได้ของทหารเหล่านี้ ทหารชั้นประทวนจนถึงสูงสุดจะอยู่ประมาณ 1,500-10,000-30,000 รูปีต่อเดือน ส่วนภาคเอกชน (อย่างธนาคารพาณิชย์ พนักงานธนาคารจะมีรายได้ประมาณ 7,000-8,000 รูปี หากเป็นระดับผู้จัดการก็จะอยู่ประมาณ 10,000-15,000 รูปี)

ช่วงระยะเวลา 8 วันแห่งการทำความรู้จักอินเดีย โดยเฉพาะที่แคชเมียร์ หลายคนบอกว่าเป็น "สวรรค์บนดิน"

แต่เป็นเช่นนั้นจริง หรือเป็น "สวรรค์ที่อยู่ปลายปืน" จะสัมผัสได้ต้องยอมที่จะเจ็บปวด

"เป็นเรื่องที่ท้าทายให้ไปค้นหากันเอาเอง"


หน้า 23
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01tra01310552&sectionid=0139&day=2009-05-31

ปากมูล...ความขัดสนในความสมบูรณ์

วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11404 มติชนรายวัน


ลัดเลาะสองฝั่งโขง ตามพ่อใหญ่หาปลา (1) ปากมูล...ความขัดสนในความสมบูรณ์


โดย ภาสกร จำลองราช padsakorn@hotmail.com




พ่อใหญ่ทองกำลังโชว์ปลาเล็กปลาน้อยที่หาได้จากลวงในน้ำโขง

ยังไม่ทันหกโมงเช้า แต่ทั่วท้องน้ำกลับสว่างแจ้ง แสงสีเหลืองทองทาบทามเหนือขอบฟ้า ทำให้เห็นภาพเรือน้อยนับสิบกำลังลอยลำอยู่กลางน้ำโขง

เมื่อน้ำโขงเริ่มขุ่นเป็นสัญญาณของน้ำแรกว่าปลาเล็กปลาน้อยกำลังว่ายห่างออกไป แต่อีกไม่นานปลาใหญ่ก็กำลังจะตามมา

ฤดูกาลหาปลาของคนปากมูลและริมโขง แม้ปีนี้จวนเจียนล่วงเลยเดือนพฤษภาคมแล้ว แต่ยังไม่มีทีท่าว่าคนมีอำนาจจะเห็นใจปลาที่สู้อุตส่าห์อุ้มท้องแหวกว่ายมาจากแดนไกลตามลำน้ำโขง เพื่อวางไข่และหากินตามลุ่มน้ำสาขาต่างๆ โดยเฉพาะแม่น้ำมูล ซึ่งเป็นแหล่งธรรมชาติสำคัญของฝูงปลามานานนับร้อยนับพันปี

ประตูทุกบานของเขื่อนปากมูลยังคงปิดสนิท ทำให้ฝูงปลาจำนวนมากไปออกันอยู่หน้าเขื่อน มีเพียงคนบ้านหัวเหว่หมู่เดียวเท่านั้นที่หาปลาได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ชุมชนที่อยู่เหนือเขื่อน ทำให้แต่เพียงรอ...รอ...แล้วก็รอวันที่ประตูเขื่อนจะเปิด

ถ้าเป็นเมื่อก่อน ป่านนี้ชาวบ้านย่านนี้อยู่กันแต่ในแม่น้ำมูลแล้ว

หลายคนที่อยู่ริมแม่มูลจึงต้องหาทางออกด้วยการไปหาปลาในน้ำโขงแทน ทำให้บรรยากาศถิ่นที่อยู่ของพญานาคเป็นไปอย่างคึกคัก

"เมื่อ 2-3 วันก่อน เรือหาปลาหลายกว่านี้ ตอนนี้ปลาเล็กปลาน้อยเริ่มไปหมดแล้ว" การหาปลามาตั้งแต่ตัวกระเปี๊ยก ทำให้พ่อใหญ่สมเกียรติ พ้นภัย แห่งบ้านด่าน ปากมูล เข้าใจระบบนิเวศและฤดูกาลของการหาปลาเป็นอย่างดี "พอน้ำโขงขุ่น มันก็กระจายไปตามลุ่มน้ำสาขาต่างๆ"

เช้านี้ผมมีโอกาสนั่งเรือลำน้อยตามพ่อใหญ่สมเกียรติไปไหลมองกลางน้ำโขงซึ่งกำลังคึกคัก แตกต่างจากลำน้ำมูลอันแสนเงียบเหงา

เรือประมงจอดสงบนิ่งหน้าเขื่อนปากมูลระหว่างรอหาปลา



ก่อนหน้านั้นผมได้แวะไปบ้านนาหว้า ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำมูลช่วงเหนือเขื่อน แม้น้ำจะเอ่อล้นตลิ่ง แต่กลับอ้างว้าง เพราะแทบไม่มีใครหาปลา

"โอ้ย ใครมันจะไปหา เขายังไม่เปิดเขื่อน จะไปเอาปลาที่ไหน" ชาวบ้านนาหว้ายืนยันผลสะเทือนจากการปิดประตูเขื่อนเป็นเสียงเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านพวกเขาต่างเรียกร้องให้เปิดประตูเขื่อนตั้งแต่ก่อนฤดูฝนแล้ว เพราะเป็นช่วงที่ปลาเริ่มเข้ามาวางไข่ แต่ทางการและหน่วยงานที่รับผิดชอบคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. พยายามโยกโย้ เพราะไม่เคยรู้จักธรรมชาติและเข้าถึงความเดือดร้อนของชาวประมง

สุดท้ายมติในที่ประชุมของจังหวัดในปีนี้ยืนยันเหมือนเอื้ออารีให้เปิดประตูเขื่อนให้ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน ซึ่งชาวบ้านได้แต่จำใจรับสภาพเพราะไม่มีทางเลือก หลายบ้านที่เตรียมมอง เตรียมตาข่ายไว้แล้ว ก็ต้องเก็บไปแขวนไว้ข้างฝาต่อไป

พ่อสมเกียรติพาผมแวะคุยกับชาวประมงลำโน้นลำนี้มากกว่าตั้งใจจะหาปลา ชาวบ้านต่างแจ้งข่าวกันว่า ปลาเล็กปลาน้อยที่เอามาทำปลาแดกอพยพผ่านไปแล้ว

"ตอนนี้เพิ่งได้ปลาแดก 4 ไห แต่ปีกลายได้ 300 กว่าไห เอาไปแลกข้าว" พ่อใหญ่ทองเงยหน้าขึ้นมาคุยระหว่างสาวมอง แกโชคดีที่มี "ลวง" เป็นของตัวเอง ทำให้ไม่เคยอดปลา

ลวงเป็นแหล่งหาปลาในแม่น้ำที่ชาวบ้านจับจองไหลมอง ต่างคนต่างมีแหล่งของตัวเองจนเป็นวิถีประชาและกลายเป็นมรดกของครอบครัวที่ธรรมชาติมอบให้ ซึ่งพวกเขาต่างเคารพในกรรมสิทธิ์ของกันและกันโดยไม่ต้องมีกฎหมายบังคับ

"พ่อเองก็บ้านแตกสาแหรกขาดตั้งแต่มีเขื่อน เพราะมันหาปลาไม่ค่อยได้ ลูกๆ 6-7 คน ต้องแยกย้ายกันเข้าไปหางานทำในเมือง เหลืออยู่บ้านเพียงคนเดียว" พ่อใหญ่ทองสะท้อนถึงความสะเทือนในชีวิตจริงที่ได้รับจากเขื่อนปากมูล "ญาติพี่น้องที่เคยเอาข้าวมาแลกกับปลาก็ห่างหายไปเยอะ"

พ่อค้าปลากำลังลำเลียงปลาใหญ่ที่ซื้อมาจากปากเซ ฝั่งลาวเพื่อนำไปขายในตลาดอุบลฯ



เขื่อนปากมูลไม่ได้ส่งผลเฉพาะชาวบ้านโดยรอบ แต่ยังกระทบเป็นลูกโซ่ไปตลอดลำน้ำมูลอีสานตอนล่างซึ่งลึกเข้าไปถึงเมืองโคราช สายสัมพันธ์อันยาวนานของคนบ้านพี่เมืองน้องถูกบั่นเป็นท่อนๆ ตามขั้นเขื่อนที่กั้นตลอดลำน้ำมูล

"นี่ถ้ากั้นเขื่อนกลางลำน้ำโขงอีกก็ไม่รู้จะอยู่อย่างไร" แม้วัยย่าง 73 แล้ว แต่พ่อใหญ่ทองยังคงยึดอาชีพหาปลา แต่ข่าวการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม ซึ่งอยู่ไม่ห่างออกไป ทำให้แกรู้สึกหดหู่และกังวลอย่างยิ่ง เพราะประสบการณ์ที่ได้รับจากการสร้างเขื่อนปากมูลนั้นหนักหนาสาหัสอยู่แล้ว

"เขาคงต้องรักษาเขื่อนปากมูลไว้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าประโยชน์ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะเป็นโครงการนำร่อง เลยยอมรับว่าผิดพลาดไม่ได้" พ่อใหญ่สมเกียรติวิเคราะห์เสริม ทุกวันนี้แกกลายเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญในการตะโกนบอกสังคมถึงความล้มเหลวในโครงการสร้างเขื่อนปากมูล

"เมื่อก่อนพอช่วงน้ำลด พวกเราพาครอบครัวล่องขึ้นไปเรื่อยๆ ตามน้ำโขง ค่ำไหนนอนนั่น ไปกันทีละ 10-20 คน แต่เดี๋ยวนี้บรรยากาศอย่างนั้นแทบไม่มีเหลืออยู่แล้ว" พ่อสมเกียรติเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของชุมชนชาวประมง

ทุกวันนี้แม้ชาวบ้านริมน้ำโขงย่านปากมูลยังคงพอหาปลาได้ แต่นับวันการทำมาหากินยิ่งฝืดเคือง ลึกเข้าไปในฝั่งตรงข้ามปากมูล พี่น้องลาวย่านเมืองโขง แขวงจำปาสัก กำลังคึกคักอยู่กับการหาปลา แต่ละลำเรือขนปลากันเพียบแปล้ หันไปทางใดก็มีแต่ปลา สถานการณ์ช่างแตกต่างกันลิบลับกับเพื่อนบ้านที่ปากมูล ทั้งๆ ที่เป็นสายน้ำเดียวกัน

ทุกข์ของคนเหนือเขื่อน

พ่อใหญ่ถา พบสุข ต้องนั่งรถจากบ้านนาหว้า ซึ่งอยู่เหนือเขื่อนปากมูล เพื่อไปหาปลาในน้ำโขงระหว่างรอให้ประตูเขื่อนปากมูลเปิด

"พวกเราอยากให้เขาเปิดตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม แต่เขาไม่เปิด ทั้งๆ ที่ปลาน้อยไข่เต็มท้องแล้ว มันเลยต้องไปออกันอยู่หน้าเขื่อน" พ่อใหญ่ถารับรู้สถานการณ์ดีเพราะแกตระเวนไปทั่ว

"ปีที่แล้วพวกเราหาปลาในแม่น้ำมูลอยู่ได้ 7 วัน น้ำก็หลากแล้ว ปลากระจัดกระจายไปหมด เขาเปิดเขื่อนให้ช้า"

แม้จะถูกกระแทกและกระหน่ำด้วยโครงการของรัฐจนวิถีชีวิตของพ่อใหญ่และชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล แต่พวกเขาก็ยังมุ่งมั่นที่จะหาปลา เพราะการหาปลาไม่ใช่แค่เพียงอาชีพ แต่เป็นวงจรในวิถีชีวิตของคนย่านนี้

"ตอนนี้เตรียมมองกันไว้หมดแล้ว รอเปิดเขื่อนเมื่อไหร่ก็ลงมูลกันทันที" พ่อใหญ่บอกอย่างกระตือรือร้น ซึ่งตอนนี้ชาวบ้านกำลังเตรียม "ส่าวลวง" ซึ่งเป็นการร่วมกันลงแรงลอกแม่มูลเพื่อให้ไหลมองได้

"เราหากินเพื่อปากเพื่อท้อง ปู่ย่าตายายก็หากินกันเช่นนี้จนเป็นบ้านเป็นเมือง แต่ตอนนี้กลับต้องมาพูดกันเรื่องเปิด (ประตูเขื่อน) 4 เดือน ปิด (ประตูเขื่อน) 8 เดือน คนพูดนะกินเงินเดือน แต่พวกเรามันคนหาเช้ากินค่ำ" เสียงทิ้งท้ายของพ่อใหญ่ฟังแล้วชวนหดหู่ใจ แต่เป็นความจริงในชีวิตของคนเหนือเขื่อน

หน้า 8
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01way01310552&sectionid=0137&day=2009-05-31

ชื่อนั้นสำคัญฉะนี้ (4)

วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11404 มติชนรายวัน


ชื่อนั้นสำคัญฉะนี้ (4)


คอลัมน์ ประสานักดูนก

โดย นสพ.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว




นกอีก๋อยใหญ่สวมธงสีก่อนปล่อยคืนธรรมชาติ

ชื่อนกที่ล้อตามเสียงร้องของนกมีหลายชนิด ที่เป็นที่คุ้นเคยของท้องถิ่นมานานหลายชั่วอายุคน เช่น อีกา นกกก นกแก๊ก นกกาเหว่า นกตีทอง เป็นต้น ชื่อนกเหล่านี้ล้วนเป็นผลจากจินตนาการของคนรุ่นเก่าที่แปลงท่วงทำนองของเสียงนกร้องออกมาเป็นภาษาคำโดดๆ (ตามลักษณะของคำไทยแท้) ที่ง่ายต่อการจดจำ เมื่อได้ยินเสียงนกเพียงครั้งเดียวก็ตาม

เสียง กาๆ ที่ปัจจุบันอาจจะไม่คุ้นหูเยาวชนไทยแล้ว เพราะ อีกา นกตัวดำๆ แต่ฉลาดเป็นกรด ลดน้อยถอยจำนวนลงไปมากกว่าแต่เดิม ที่พบเห็นได้ทั่วไทย บางชื่อใช้การเปรียบเทียบจากนกชนิดที่คุ้ยเคย เช่น อีแก ซึ่งก็เป็นนกวงศ์กาเช่นเดียวกับอีกา พบเห็นได้ยากเนื่องจากมีจำนวนน้อย จำกัดพื้นที่เฉพาะในภาคใต้ เช่น จ.ภูเก็ต หากเสียงร้องแปร่งหูคน ต่างจากอีกา จึงถูกเรียกให้รู้ว่าเป็นอีแก ที่ไม่ใช่อีกา

บางชื่อแม้จะเลียนเสียงนกร้องได้ตรงตามหูคนไทย ถ้าไม่ได้ศึกษาทำความรู้จักนกจากหนังสือคู่มือดูนก หรือได้ยินเสียงนกตัวจริงร้องในธรรมชาติก็อาจงุนงงได้ง่ายๆ เช่น ชื่อของ นกเงือก สัญลักษณ์ของป่าดิบอันอุดม

นกกก หรือ นกกาฮัง นกเงือกขนาดใหญ่ที่ส่งเสียงร้องประกาศฉายาของตนเอง แม้เสียงร้องของนกกกจะเหมือนนกเอื้อนเบาหวิวแผ่วล้า หากส่งเสียงทอดสำเนียงไปได้ไกลหลายร้อยเมตร เพราะนกมักจะร้องอยู่บนเรือนยอดไม้สูง หรือ นกแก๊ก นกเงือกตัวเล็กๆ ส่งเสียงแหลม แก๊ก-แก๊ก-แก๊ก ซ้ำๆ กันเจี๊ยวจ๊าวรวมกันหลายตัวในฝูงเล็กๆ

พวก นกโพระดก ก็มีชื่อชวนให้คิดถึงที่มาว่าคนตั้งล้อเสียงใดหรือ เช่น นกตีทอง นกโพระดกตัวเล็กสุดในเมืองไทย ยามจะประกาศอาณาเขตแสดงความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของโพรงน้อยในกิ่งไม้ หรือจะชักชวนตัวเมียให้ร่วมหอลงโรง จะเกาะเด่นบนต้นไม้หรือสายไฟฟ้า โก่งคอขัน ต๊งๆๆ กังวานไกลไปสามบ้านแปดบ้าน เขาว่าเสียงนี้คล้ายช่างตีเหล็กที่กำลังตีแผ่นทอง

หรือ นกตั้งล้อ นกโพระดกขนาดใหญ่ที่สุดในบ้านเราที่เป็นพวกนกดง นกดอย หาใช่นกบ้าน นกเมือง เช่นนกตีทอง ส่งเสียงร้องว่า ตั้ง-ล้อ จึงได้ชื่อนั้นมาง่ายๆ โดยไม่แฝงความแยบคายใดๆ แม้แต่น้อย แต่ก็คงงงหากได้ยินเป็นครั้งแรกและไม่ทราบต้นสายปลายเหตุ

แม้ในนกกลุ่มเดียวกันที่มีวิวัฒนาการร่วมกันในกลุ่มนกคัคคู เช่น นกกาเหว่า และ นกกะปูด แต่เสียงร้องกลับแตกต่างกันสิ้นเชิง แม้ว่าชื่อของนกจะเรียกล้อตามเสียงร้องก็ตาม

บางชื่อผิดแผกเหมือนอ้างอิงตำราต่างเล่ม เพราะการรับรู้ผ่านประสาทหูของคนฝรั่งและคนไทย สร้างจินตภาพต่อเสียงนกที่ได้ยินต่างกันออกไป แม้จะเป็นนกชนิดเดียวกัน คนไทยเรียกชื่ออย่าง ฝรั่งเรียกอีกอย่าง เช่น นกอีก๋อย (Curlew) เป็นนกชายเลน ขนาดใหญ่ที่มีจะงอยปากยาวโค้งโน้มลงสู่ดิน คนไทยฟังเสียงแล้วก็บอกนกร้องว่า "ก๋อยๆๆ" แต่ฝรั่งไพล่ได้ยินไปอีกอย่างว่า "เคิร์ล-ลู" หรือ "เคอร์-ละ-ยู" แบบนี้ใช่ว่าจะเป็นพวกฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด หากเป็นฟังได้ศัพท์สองคำต่างภาษา ไม่มีผิดถูกกระไร

หรือ นกมูม นกพิราบป่าขนาดใหญ่ ที่อิริยาบถสุภาพเรียบร้อยตามประสานกพิราบ ส่งเสียงทุ้มนุ่มเฉื่อยๆ ว่า มูมๆๆ ไม่ได้มูมมามกินลูกไม้จนเลอะเทอะเปรอะเปื้อนเหมือนพวกนกปรอดหรือนกเอี้ยงที่จิกกินลูกตำลึงสุกสีแดงจนเปรอะจะงอยปาก

จะเห็นว่านกหลายชนิด ส่งเสียงร้องบอกนามของตน แม้นกจะไม่รู้หรอกว่าคนเราเรียกชื่อตัวตนว่าอย่างไร หากเสียงของนกสื่อสัญญาณเพื่อประกาศอาณาเขตและการร้องหาคู่ผสมพันธุ์ แต่คนเรา โดยเฉพาะนักดูนกใช้เสียงนกเป็นเสมือนสะพานลา ช่วยจำชื่อ ยิ่งได้ยินเสียงจากประสบการณ์จริงในธรรมชาติ ยิ่งเข้าใจแจ้งถึงเหตุแห่งการตั้งชื่อ

อีกทั้งยังช่วยค้นหาตัวนก ยามได้ยินแต่เสียงแต่ไม่พบเห็นนกที่อาจหลบซ่อนตัวอยู่ในป่า และเป็นตัวช่วยจำแนกชนิดที่ชุดขนคล้ายกัน หากเสียงร้องต่างกันออกไปเป็นเอกลักษณ์ต่างตัว

ดังนั้น การเรียนรู้เรื่องเสียงร้องของนกช่วยเติมเต็มอีกแง่มุมหนึ่งการดูนกให้สนุกขึ้นด้วยการเรียนรู้จากประสบการณ์ด้วยตนเอง

หน้า 21

http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01sun03310552&sectionid=0120&day=2009-05-31

ทีมแพทย์ประสานหมอจุฬา/มหิดลรักษาช้างสุรินทร์ด่วน

ทีมแพทย์ประสานหมอจุฬา/มหิดลรักษาช้างสุรินทร์ด่วน

ข่าววันที่ 30 พฤษภาคม 2552 แหล่งข่าวจาก สยามรัฐ

                       เมื่อวันที่ 30  พฤษภาคม 2552  เวลา 15.25 น. ทีมสัตวแพทย์จากสถาบันวิจัยแลบริการสุขภาพช้างแห่งชาติจังหวัดสุรินทร์และสัตวแพทย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสน สถาบันคชบาลแห่งชาติ ได้ตัดสินใจใช้รถเครนน้ำหนัก 10 ตัน และเครนโรงพยาบาลช้างทำการยกพังกำไลลงจากรถบรรทุก 6 ล้อแล้ว 

                  โดยมีเจ้าหน้าที่ทหาร จากกองกำลังสุรนารี ,ทหารจังหวัดทหารบกสุรินทร์ เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัด ร่วมทั้งประชาชนที่รู้ข่าว และ นักข่าวที่มาทำข่าว ต่างพร้อมใจกันเข้าช่วยกันพยุงช่วยช้าง จนสามารถยกพังกำไลให้ลุกขึ้นให้ยืนได้ โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ นายวิรัตน์ ลิ้มสุวัจน์ และนายสัตวแพทย์สำนักพระราชวัง และผู้บังคับการจังหวัดทหารบก ผู้พลตรีต่อศักดิ์ เหลืองตระกูล และรองผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี นำกำลังเจ้าหน้าที่ มาให้การช่วยเหลือและให้กำลังใจอย่างใกล้ชิด 

                  การตัดสินใจใช้รถเครนยกพังกำไลในครั้งนี้ เพื่อที่สัตวแพทย์ จะได้ทำการตรวจบาดแผล และส่วนที่ถูกนอนทับมาตลอด 2 วันที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าหน้าที่พบมีบาดแผลที่ ขาหน้าซ้ายและมีลักษณะบวมเป่ง เจ้าหน้าที่ได้ทำการเอ็กซเรย์ และทำแผลให้กับพังกำไลอย่างเร่งด่วน เนื่องจากจะให้ยืนนานไม่ได้เกรงจากจะเจ็บปวดบาดแผล โดยทีมสัตวแพทย์ได้ทำงานอย่างรวดเร็ว จากนั้นจะให้พังกำไลนอนสลับลงไปอีกข้าง เพื่อไม่ให้เกิดแผลกดทับ หลังตรวจร่างกายแล้ว ช้างมีความพร้อมจะทำการยกขึ้นและรักษาอย่างเร่งด่วนต่อไป

                        ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและบริการสุขภาพช้างแห่งชาติ สัตวแพทย์หญิงภัทร เชื้อพลายเวช บอกว่า การยกตัวพังกำไลในครั้งนี้ เพื่อให้คณะสัตวแพทย์ตรวจร่างกายและบาดแผล  จากนั้นจะให้นอนลงสลับไปอีกข้าง รอทีม ผ่าตัดและรักษามาก็จะทำการรักษาได้ทันที...

                          ด้านหม่อมหลวงพิพัฒฉัตร ดิศกุล นายสัตวแพทย์ประจำสำนักพระราชวัง บอกว่า ต้องยกตัวช้างขึ้น เพื่อดูว่าช้างสามารถพยุงตัวได้หรือไม่ และให้ทีมสัตวแพทย์เข้าตรวจบาดแผล ซึ่งขณะนี้ได้ประสานไปยังทีมแพทย์จากจุฬาลงกรณ์และมหาวิยาลัยมหิดล เพื่อมาทำการรักษาแล้ว คาดว่าจะเดินทางมาถึงสถาบันวิจัยและบริการสุขภาพช้างแห่งชาติจังหวัดสุรินทร์ได้ในคืนนี้ จากนั้นจะมีการประชุมหารือถึงแผนการรักษาและลงมือทำการรักษาโดยทันที

 
  รูปประกอบข่าว
http://www.siamrath.co.th/uifont/NewsDetail.aspx?cid=108&nid=39106
 

ศูนย์ช้างลำปางปลื้มไม่แพ้เชียงใหม่มีสมาชิกใหม่เพศเมีย

 ศูนย์ช้างลำปางปลื้มไม่แพ้เชียงใหม่มีสมาชิกใหม่เพศเมีย

ข่าววันที่ 31 พฤษภาคม 2552 แหล่งข่าวจาก สยามรัฐ


                 วันที่ 31 พฤษภาคม 2552 ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยจังหวัดลำปาง องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ได้ช้างสมาชิกใหม่ ที่พึ่งตกลูกออกมาในช่วงเช้าของวันนี้ ซึ่งแม่ช้างที่พึ่งตกลูกออกมา ได้แก่ ช้างพังสิงขร เพศเมีย อายุ 29 ปี โดยเป็นช้างแสดงของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2550 ทางคณะสัตว์แพทย์ได้ทำการตรวจร่างกายช้างพังสิงขร พบว่าร่างกายมีความพร้อมที่จะผสมพันธุ์ ดังนั้น จึงได้นำช้างพลายพระเหม เพศผู้ อายุ 47 ปี ซึ่งเป็นช้างนั่งชมธรรมชาติของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย มาผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ กระทั่งช้างพังสิงขรตั้งท้องลูกช้างนาน 21 เดือน 7 วัน จนตกลูกช้างออกมาในวันนี้ เป็นช้างพัง เพศเมีย ซึ่งมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์อย่างมาก และค่อยกินนมแม่อยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ทางคณะสัตว์แพทย์โรงพยาบาลช้างของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ก็ได้ปล่อยให้ช้างแม่ลูกอยู่ในป่าห้วยแม่วัง ซึ่งเป็นป่าสงวนเขตศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยจังหวัดลำปาง โดยเป็นบริเวณที่ช้างพังสิงขรตกลูกช้างออกมา
ด้าน นายสัตว์แพทย์ศรันย์ จันทร์สิทธิเวช นายสัตว์แพทย์ประจำโรงพยาบาลช้าง กล่าวว่า แม่ช้างเชือกนี้ถือว่ามีร่างกายที่แข็งสมบูรณ์อย่างมาก และเคยตกลูกช้างมาแล้ว 2 เชือก ได้แก่ ช้างพลายลูกแก้ว เพศผู้ ขณะนี้ อายุ 9 ปี และช้างพังเนื้ออุ่น เพศเมีย อายุ 5 ปี ซึ่งช้างทั้ง 2 เชือก ก็ได้เข้าโรงเรียนช้าง และยังเป็นช้างแสดงของศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยจังหวัดลำปาง สำหรับช้างพังสิงขรนั้น ทางคณะสัตว์แพทย์คาดว่าต่อไปอาจจะให้ผสมพันธุ์อีก เพื่อให้ตกลูกช้างอีกประมาณ 3 เชือก เนื่องจากชังพังสิงขรยังมีอายุน้อย และเป็นแม่ช้างพันธุ์ที่ดีอย่างมาก ที่ทางศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยจะเพิ่มสถิติช้างให้มีมากขึ้น ทั้งนี้ ปกติแล้วช้างจะมีลูกได้ถึง 5 – 6 เชือก โดยช้างพังสิงขรที่มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ก็จะมีความพร้อมที่จะตกลูกช้างตามจำนวนนั้นเหมือนกัน
“ลูกช้างที่พึ่งตกลูกช้างออกมาถือว่ามีความติดพันธ์กับแม่ช้าอย่างมาก และไม่ยอมออกห่าง ประกอบกับได้ค่อยดูดนมแม่ช้างอยู่ตลอดเวลา ส่วนนมเหลืองที่ช้างน้อยทุกเชือกจะต้องกิน ช้างน้อยเชือกนี้ก็กินแล้ว นับว่าการตกลูกช้างครั้งนี้ ไม่มีปัญหาอะไร เป็นไปตามธรรมชาติ จนได้ลูกช้างออกมาอย่างมบูรณ์ ตลอดจนแม่ช้างก็ถือว่ายอมรับลูก และค่อยดูแลลูกช้างอยู่ตลอดเวลา ตลอดจนหวงลูกช้างอย่างมาก และไม่ให้ใครเข้าใกล้ พร้อมแสดงอาการจะปกป้องลูกช้างของตนเองด้วย ดังนั้น ผู้ที่เข้าใกล้ได้ คือ ควาญช้างเท่านั้น ที่จะค่อยดูแลแม่ช้าง และลูกช้าง แต่หากทางคณะสัตว์แพทย์จะตรวจร่างกาย ก็จะให้ควาญช้างแยกแม่ช้าง และลูกช้างออกจากกันในลักษณะที่เห็นกันอยู่ จึงจะสามารถเข้าไปดูแลได้”
 
  รูปประกอบข่าว
http://www.siamrath.co.th/uifont/NewsDetail.aspx?cid=108&nid=39117

สยามเวิลด์ทัวร์ :ยลโฉมมนต์ขลัง"อิสตันบูล" ว่าที่เมืองหลวงวัฒนธรรมของยุโรป

 สยามเวิลด์ทัวร์ :ยลโฉมมนต์ขลัง"อิสตันบูล" ว่าที่เมืองหลวงวัฒนธรรมของยุโรป

ข่าววันที่ 31 พฤษภาคม 2552 แหล่งข่าวจาก สยามรัฐ

                หากพูดถึงประเทศตุรกี กันแล้วละก็ "อิสตันบูล" ก็นับเป็นเมืองที่ผุดขึ้นในใจของผู้คน

 ชาวโลกเป็นอันดับแรก ก่อนกรุงอังการา ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศแห่งนี้ด้วยซ้ำ

                 ทั้งนี้  เนื่องจากนครแห่งนี้  ครั้งหนึ่งเคยเป็นศูนย์รวมอารยธรรมโลก  มานับตั้งแต่

 สมัยกรีกโบราณแล้วด้วยซ้ำ

                  แม้ในยุคปัจจุบัน  นครอิสตันบูล  ก็ถือได้ว่า มีจำนวนประชากรหนาแน่นมากที่สุดของ

 ประเทศตุรกี ยิ่งกว่าเมืองหลวง"กรุงอังการา"

                    อย่างไรก็ตาม  นาม  "อิสตันบูล" หาได้เป็นชื่อเรียกขานนครแห่งนี้มาตั้งแต่เดิมไม่  

 เพราะชื่อเดิมนั้น   ก็คือ   "คอนสแตนติโนเปิล"   ซึ่งชื่อดังกล่าว  ตั้งตามนามขององค์

 จักรพรรดิผู้ทรงสถาปนา   

                 นั่นคือ  "จักรพรรดิคอนสแตนตินมหาราช" 

                  โดยพระองค์  ทรงสถาปนาเมืองแห่งนี้ขึ้นเมื่อ  พ.ศ.  873(ค.ศ.  330)  บนที่

 ราบไบแซนติอุม  หรือไบแซนไทน์  ส่งผลให้อาณาจักรโรมันแบ่งออกเป็นสอง  คือ  โรมัน

 ตะวันตก มีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงโรม (ปัจจุบัน คือ เมืองหลวงของอิตาลี) และโรมันตะวันออก

  ซึ่งก็คือ อาณาจักรไบแซนไทน์ อันมีกรุงคอนสแตนติโนเปิล เป็นเมืองหลวงนั่นเอง    

                  ต่อมา เมื่ออาณาจักรโรมันตะวันตก (กรุงโรม) ล่มสลายปี พ.ศ. 1018 (ค.ศ. 4

 75)  เพราะถูกอนารยชนรุกราน  "คอนสแตนติโนเปิล"  แห่งอาณาจักรไบแซนไทน์ หรือ

 โรมันตะวันออก  ยังคงยืนหยัดสืบมา  ในฐานะศูนย์กลางของวัฒนธรรมของอาณาจักรโรมัน

 สืบมา  ซึ่งรวมทั้งวัฒนธรรมของคริสตศาสนา  นิกายออร์โธดอกซ์ คู่แข่งสำคัญของคริสตศา

 สนา นิกายโรมันคาทอลิก อันทรงอิทธิพลแห่งกรุงโรม  

                  อย่างไรก็ตาม   จากการที่   "คอนสแตนติโนเปิล"   ยืนเด่นเป็นสง่าอยู่ระหว่าง

 โกลเดนฮอร์น  กับทะเลมาร์มารา  อันเป็นจุดบรรจบระหว่างทวีปยุโรปกับทวีปเอเชีย  ก็

 เปรียบว่า "คอนสแตนติโนเปิล" เสมือน "สะพาน" เชื่อมต่อระหว่าง "โลกตะวันตก" คือ

  "ทวีปยุโรป"  กับ  "โลกตะวันออก  " คือ "ทวีปเอเชีย" ก็เป็นเหตุปัจจัยให้นครแห่งนี้  

 กลายเป็นแหล่งชุมนุมของวัฒนธรรมทั้งสองฟากฝั่งของโลกไปโดยปริยาย  ซึ่งก็ยิ่งเพิ่มพูนให้

 นครดังกล่าว เจริญไปด้วยวัฒนธรรมต่างๆ เป็นเอนกประการ

                 ทว่า  คำพระท่านว่า "ใดๆ ในโลกล้วนอนิจจัง" ซึ่ง "คอนสแตนติโนเปิล" ก็ได้พ้น

 จากสัจธรรมข้อนี้ไม่  เมื่อปรากฏว่าศูนย์กลางแห่งอาณาจักรไบแซนไทน์แห่งนี้  ต้องมีอันล่ม

 สลาย  เพราะถูกรุกรานโดยกองทัพออตโตมานเตอร์ก  ที่นำโดยสุลต่านเมห์เหม็ดที่ 2 ใน

 วันที่ 29 พฤษภาคม  พ.ศ. 1996 (ค.ศ. 1453) หรือเมื่อ 556 ปีที่แล้ว

                    ถึงแม้ว่า  "คอนสแตนติโนเปิล"  ถูกยึดครองโดยกองทัพออตโตมานเตอร์ก  แต่ก็ดู

 เหมือนว่า  นครแห่งนี้จะยังไม่สิ้นมนตราแห่งความเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม เมื่อออตโต

 มานเตอร์ก   ได้ใช้นครดังกล่าวเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรไปอย่างเต็มภาคภูมิ   พร้อม

 กันนั้น วัฒนธรรมแบบอิสลามก็หลั่งไหลเข้าสู่ดินแดนแห่งนี้

                   จวบจนกระทั่ง  การล่มสลายของออตโตมานเตอร์ก  และตามมาด้วยการถือกำเนิด

 ขึ้นของ  "สาธารณรัฐตุรกี"  เมื่อปี  พ.ศ.  2466 (ค.ศ. 1923) ที่นำโดย "มุสตาฟา  

 เคมาล อาตาเติร์ก" คอนสแตนติโนเปิล ก็ยังคงความขลังเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของ

 สาธารณรัฐตุรกีอยู่ดี ถึงแม้ว่าสถานภาพความเป็นเมืองหลวง ได้ถูกย้ายโอนไปยัง "อังการา

 ไปในฐานะเมืองหลวงแห่งใหม่ของประเทศแล้วก็ตาม  แต่ทว่าถ้าเปรียบเทียบถึงความ

 เจริญรุ่งเรืองระหว่างเมืองทั้งสองแห่งกันแล้วละก็    "อังการา"    ต้องหลีกทางให้แก่

 คอนสแตนติโนเปิล  ในฐานะที่เคยเป็นเมืองหลวงของดินแดนแห่งนี้มานานถึง  1,610  ปี

                   เมื่อตุรกีเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบสาธารณรัฐแล้ว ทางการก็ได้เปลี่ยน

 ชื่อเมืองคอนสแตนติโนเปิล  มาเป็น  "อิสตันบูล" ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษากรีก อันหมาย

 ความว่า  "ในเมือง",  "ของเมือง"  หรือ  "แก่เมือง" โดยในที่นี้หมายถึง "แก่เมือง

 คอนสแตนติโนเปิล"  นั่นเอง  และแม้ว่าถูกริดรอนในอำนาจของเมืองหลวงไปแล้ว แต่ "

 คอนสแตนโนเปิล"   หรือ"อิสตันบูล"   ในชื่อใหม่   ก็ยังคงมนต์เสน่ห์แห่งความอุดมด้าน

 วัฒนธรรมอยู่ดีนั่นเอง  ถึงขนาดถูกยกย่องให้เป็น"พื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์"  แห่งหนึ่ง

 ของโลกเลยทีเดียว   นอกไปจากการเป็นจุดหมายปลายทางของเหล่าบรรดานักท่องเที่ยว  

 ที่หวังเที่ยวชมในแง่ของวัฒนธรรมแล้ว

                  โดยสถานที่ท่องเที่ยว ที่นับว่าสำคัญ เพราะนอกจากเปรียบเสมือนเป็นแหล่งศูนย์รวม

 ทางวัฒนธรรม  ในฐานะที่เคยเป็นศาสนสถานทั้งของคริสต์และอิสลาม  ตลอดจนถูกยกย่อง

 ให้เป็น  "มรดกโลกทางวัฒนธรรม" ขององค์การยูเนสโกแล้ว ก็คือ "วิหารเซนต์โซเฟีย"  

 หรือ  "ฮาเจีย  โซเฟีย"  ปัจจุบันวิหารแห่งนี้  ได้กลายเป็น "พิพิธภัณฑ์" โดยมีชื่อว่า "

 พิพิธภัณฑ์อะยาโซเฟีย"  

                     เห็นชื่อว่า   "เซนต์โซเฟีย"   ของวิหารแล้วอย่าเพิ่งคิดว่า  เป็นชื่อนักบุญท่านใด  

 แต่แท้จริงแล้ว ชื่อนี้เอามาจากภาษากรีก หมายถึง "โบสถ์หรือวิหารแห่งปัญญาอันศักดิ์สิทธิ์"

                  สำหรับประวัติความเป็นมาของโบสถ์แห่งนี้ เริ่มสร้างขึ้นโดยจักรพรรดิคอนสแตนตินม

 หาราช  เมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่  4  เพื่อเป็นศาสนสถานของคริสตศาสนา นิกายออร์โธ

 ดอกซ์  ตัวโบสถ์ถูกสร้างขึ้นติดกับบริเวณที่กำลังถูกสร้างเป็นพระราชวัง คล้ายกับวัดพระศรี

 สรรเพชญ์ สมัยกรุงศรีอยุธยา หรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ที่สร้าง

 อยู่ในพระบรมมหาราชวังของไทยเรานั่นเอง

                    อย่างไรก็ตาม  โบสถ์ได้สร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่  15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 903 สมัย

 จักรพรรดิคอนสแตนติอุส  ที่ 2 หลังจากนั้นศาสนสถานแห่งนี้ ก็ถูกสร้างต่อเติมในจักรพรรดิ

 รัชสมัยต่อๆ มา เช่น จักรพรรดิจัสติเนีย ที่ 1 เป็นต้น

                    เมื่อสุลต่านเมห์เหม็ด  ที่ 2 แห่งออตโตมานเตอร์ก ยึดคอนสแตนติโนเปิลได้แล้ว ก็

 ได้แปลงโฉมมาเป็นสุเหร่าของอิสลามไปในเวลาต่อมา

                    ด้วยความที่อิสตันบูล หรือคอนสแตนติโนเปิลเดิม เป็นศูนย์รวมทางวัฒนธรรม ก็ส่งผล

 ให้สหภาพยุโรป    หรืออียู    ได้เตรียมที่จะประกาศให้นครแห่งนี้เป็น    "เมืองหลวง

 ทางวัฒนธรรมของยุโรปในอนาคต"  คือ  ในปี  2553 ให้ชาวโลกได้รับรู้ ก็ยิ่งทำให้อดีต

 ศูนย์วัฒนธรรมโลกแห่งนี้    เพิ่มมนต์ขลังแก่บรรดานักท่องเที่ยวผู้หลงใหลในเชิงวัฒนธรรม  

 ซึ่งใฝ่ฝันที่จะมายลโฉมอีกเท่าทวีคูณ

 

 
  รูปประกอบข่าว
http://www.siamrath.co.th/uifont/NewsDetail.aspx?cid=54&nid=39124

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ข่าวสาร ข้อมูล ทุกด้านต้องรับฟัง ไม่เชื่อสิ่งที่เห็น ฟังข่าวสารเพียงฝ่ายเดียว ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew ● ปรึกษาปัญหากฏหมาย ละเมิด,สัญญา,อายัดทรัพย์ ยึดทรัพย์ ปัญหาติดต่อราชการ ฟรี ● พิมพ์รายงาน,ค้นหาข้อมูล, ● งานพิมพ์ Lay-Out,Art Work สำนักพิมพ์ดาวหาง www.sanamluang.bloggang.com สนใจติดต่อสอบถาม workingmailhome@hotmail.com

รายการบล็อกของฉัน