บ.ซีแคนูไทยแลนด์ จำกัด บ้าน ร๊อคการ์เด้นท์ 125/461 บ้านทุ่งคา - บ้านสะปำ ต. รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 โทรศัพท์ 076 528839 - 40 โทรสาร 076 258841 อีเมล์: info@seacanoe.net เว็บไซต์ http://www.seacanoe.net/ Please visit my blog.Thank you so much. http://www.sanamluang.bloggang.com / http://tham-manamai.blogspot.com / http://www.parent-youth.net/ http://www.tzuchithailand.org/ http://www.pdc.go.th/ http://www.presscouncil.or.th / http://thainetizen.org/ http://www.ictforall.org

"เชิญชวนทุกท่านร่วมสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน"

ฉันไม่ชอบกฎหมาย
Bookmark and Share
Blognone

วันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

เปิดปม-แก้เกมฝ่าวิกฤตท่องเที่ยวไทย

เปิดปม-แก้เกมฝ่าวิกฤตท่องเที่ยวไทย
โดย ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์ 7 พฤษภาคม 2552 08:42 น.
       ธุรกิจท่องเที่ยวปีนี้หลายฝ่ายออกมายอมรับว่าเป็นแห่งห้วงวิบากกรรมท่องเที่ยวไทยอย่างแท้จริง เพราะไม่ใช่แค่ต้องเผชิญมรสุมอันเป็นผลพวงจากการปิดสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อปลายปีที่ผ่านมาเท่านั้น วิกฤติเศรษฐกิจโลกที่รุมเร้า และการเปิดศึกชุมนุมทางการเมืองรอบใหม่ของกลุ่มเสื้อแดงจนกลายเป็นจลาจล ยิ่งตอกย้ำให้สถานการณ์ท่องเที่ยวไทยตกต่ำลงอย่างเห็นได้ชัด
       
       จะว่าไปแล้วช่วงไตรมาสแรกของปี 52 ที่ผ่านมาผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวหลายแขนงเชื่อว่าการท่องเที่ยวของไทยไม่น่าตกต่ำอย่างที่หลายคนคิด เพราะตั้งแต่ที่มีเหตุการณ์ปิดสนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมืองในช่วงปลายปี 51 ที่ผ่านมา จนมีผู้เชี่ยวชาญจากหลายองค์กรออกมาวิเคราะห์แนวโน้มการท่องเที่ยวของไทยอย่างมั่นใจว่าจะติดลบ แต่เอาเข้าจริงสถานการณ์กลับค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างมีความหวัง เพราะภายหลังจากสนามบินเปิดให้บริการตามปกติ ก็เริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้จะยังไม่เท่าเดิมก็ตาม แต่ถือว่าอยู่ในระดับสูงกว่าที่เคยประมาณการไว้อย่างมาก
       
       การเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวดังกล่าว สาเหตุหลักคงจะมาจากการเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการออกไปโรดโชว์ในต่างประเทศ หรือการจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศเองก็ตาม ส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มมีความมั่นใจที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยอีกครั้ง ขณะที่คนไทยเองก็เกิดความต้องการที่จะเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มมากยิ่งขึ้น
       
        หากนำตัวเลขนักท่องเที่ยวตั้งแต่สิ้นปี 2551 หลังเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง และมีเหตุการณ์ปิดสนามบินในต่างจังหวัดหลายจุด รวมทั้งสนามบินสุวรรณภูมิ และดอนเมือง ทางสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว (สพท.) ได้สรุปตัวเลขออกมาแล้ว พบว่าในช่วงไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าวโดยตรงมีจำนวนท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาลดลง 18.01% คือ จาก 4,058,708 คน ในปี 2550 เหลือ 3,327,563 คน โดยในเดือนตุลาคม ลดลง 6.54% พฤศจิกายน ลดลง 21.21% และธันวาคม ลดลง 23.98%
       
       หากแบ่งเป็นการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เฉพาะที่สนามบินสุวรรณภูมิ ในปี 2551 พบว่าลดลง 2.97% คือจาก 10,370,486 คน ในปี 2550 เหลือ 10,062,855 คน เฉพาะไตรมาส 4 ลดลง 28% คือจาก 2,894,155 คน เหลือ 2,083,922 คน โดยในเดือนตุลาคม ลดลง 11.12% พฤศจิกายน ลดลง 30.79% และธันวาคม ลดลง 38.84%
       
       ถึงแม้ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2551 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง แต่หากมองถึงยอดรวมของจำนวนนักท่องเที่ยว ตลอดทั้งปียังเพิ่มขึ้นถึง 0.5% หรือจำนวน 14,536,386 คน จากปี 2550 ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเพียง 14,464,228 คน สูงกว่าประมาณการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหายไปไม่น้อยกว่า 2 ล้านคน
       
       ส่วนช่วงต้นปี 2552 ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบเต็มๆ ปรากฏว่าตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคมที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เคยหายไปเป็นจำนวนมากในช่วงปลายปี 2551 เริ่มกลับเข้ามาแล้ว และเริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากที่เคยลดลง 20% ก็เหลือเพียง 10% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551
       
                 โดยในเดือนมกราคมที่ผ่านมา พบว่ามีนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านด่านสนามบินสุวรรณภูมิเพียงแห่งเดียวถึง 1,032,372 คน จากช่วงเดียวกันของปี 2551 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยว 1,250,000 คน เดือนกุมภาพันธ์ มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา 946,545 คน จากช่วงเดียวกันของปี 2551 ที่มี 1,050,282 คน และเดือนมีนาคม มีการสรุปข้อมูลระหว่างวันที่ 1-12 พบว่ามีจำนวนชาวต่างชาติเดินทางเข้ามา 322,451 คน ส่วนเดือนมีนาคม 2551 ตลอดทั้งเดือนมีจำนวน 1,407,649 คน
       
       จากข้อมูลเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2552 พบว่าชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามามากที่สุดเป็นอันดับแรกคือ ญี่ปุ่น จำนวน 155,205 คน รองลงมาคือ อังกฤษ 118,700 คน จีน 97,552 คน อเมริกา 97,498 คน เยอรมัน 90,676 คน และเกาหลี 80,279 คน ตามลำดับ
        
       ยกที่หนึ่งผ่าน

       
                 แม้ตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาจะน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ผู้ประกอบการเอกชนหลายคนก็รู้สึกพอใจที่ยังมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะติดลบมากกว่านี้
       
       หลายคนได้ตั้งข้อสังเกตว่าการที่นักท่องเที่ยวกลับเข้ามาเร็วกว่าที่หลายคนวิเคราะห์ไว้ สาเหตุหนึ่งคงมาจาก การปรับกลยุทธ์รุกตลาดอย่างจริงจังและต่อเนื่องของผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการจัดโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมของผู้ประกอบการโรงแรม ที่ยอมหั่นราคาลงมาถึง 50% เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ อาทิ การแจกห้องพักฟรี 1 คืน เมื่อเข้าพัก 1 คืน เป็นต้น ขณะที่ผู้ประกอบการสปายังมีการปรับลดราคาสูงสุดถึง 70% ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และแม้แต่สายการบินเองก็ร่วมแจกตั๋วฟรี และการงดเก็บภาษีต่างๆ เพื่อทำให้ราคาตั๋วเครื่องบินปรับตัวลดลง ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติและคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ
       
       ขณะเดียวกัน ช่วงต้นเดือนเมษายนก่อนเทศกาลสงกรานต์ ยังพบว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเตรียมใช้เครื่องบินเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลท์) เดินทางเข้ามาในไทยแล้วประมาณ 84 ลำ ขณะที่สายการบินเสินเจิ้นแอร์ไลน์  ได้เปิดเส้นทางบินตรงมายังประเทศไทย 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ก็ยังออกมายืนยันด้วยว่า เที่ยวบินที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยในช่วงเทศกาลสงกรานต์เต็มหมด จนไม่เพียงพอกับความต้องการ
       
       ทั้งหมดสอดคล้องกับสมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว (แอตต้า) ที่ออกมายืนยันว่าเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ คาดว่าน่าจะมีชาร์เตอร์ไฟลท์จากจีนเดินทางเข้ามาในประเทศไทยแล้วประมาณ 50-60 ลำ หรืออาจจะลดลงจากปีที่แล้วที่มีประมาณ 100-200 ลำ แต่ก็ยังถือว่าเป็นปรากฎการณ์ที่ดี ที่ยังมีการเดินทางเข้ามา เพราะในช่วงปิดสนามบินตลาดจีนนั้นลดลงเกือบจะ 100% ทีเดียว
       
       อย่างไรก็ตาม ยังมีนักท่องเที่ยวจากดูไบ ซึ่งถือเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวในในแถบตะวันออกกลางและกำลังจะกลายเป็นตลาดใหม่ ซึ่งมีตัวเลขประมาณการกว่า 70,000-80,000 คน ที่เตรียมเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเร็วๆ นี้ด้วยเช่นเดียวกัน
       
       ความพยายามของภาครัฐและเอกชนที่ร่วมมือร่วมใจกันจัดกิจกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศหวังกระตุ้นให้ตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มขึ้นค่อนข้างที่จะสดใสเห็นแสงสว่างอยู่ปลายทาง ซึ่งอาจจะดูไม่เลวร้ายอย่างที่หลายคนคิดมากนัก
       
       วิกฤตรอบสอง
       
       แต่ทุกอย่างก็ต้องกลับมาเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ทันทีที่มีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงจนทวีความรุนแรงกลายเป็นการจลาจล อีกทั้งผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงยังบุกเข้าไปในโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช พัทยา จนทำให้การประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาอาเซียน +3 และ +6 ต้องเลื่อนออกไปและส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติเป็นอย่างมาก   ทำให้ความพยายามของภาครัฐและเอกชนที่เร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาพลันมลายหายวับไปต่อหน้าต่อตา!....
       
                 ว่ากันว่าความเชื่อมั่นที่กำลังจะเกิดขึ้นกลายเป็นความตื่นตระหนก หวาดกลัว จนนำไปสู่การยกเลิกการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวสงกรานต์ ส่วนที่เดินทางเข้ามาแล้วก็เช็กเอาต์กลับประเทศทันทีที่เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น สังเกตได้จากจำนวนห้องพักบริเวณถนนข้าวสารที่ถูกจองล่วงหน้าเต็มเกือบหมด แต่หลังเกิดความรุนแรงก็หนีหายไปลดลงเหลือเพียงแค่ ร้อยละ 20-30 เท่านั้น ขณะเดียวกันรายได้ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลแบบนี้หลายพันล้านบาทก็คงอาจจะเหลือเพียงกี่ร้อยล้านบาทเท่านั้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวหมดเรี่ยวแรงไปตามๆกัน
       
       เมื่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นมาแล้วและส่งผลต่อธุรกิจท่องเที่ยวในภาพรวม ดังนั้นการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นอีกครั้งคงจะไม่ใช่เรื่องง่ายๆอย่างที่คิดอีกต่อไป เพราะแม้ว่ารัฐบาลจะประสบความสำเร็จในการสลายม็อบโดยไม่มีการสูญเสียชีวิตเกิดขึ้นก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการเมืองนับจากนี้ไปจะเข้าสู่ภาวะนิ่งทำให้การทำงานของรัฐบาลเป็นไปอย่างราบรื่น ซึ่งผู้ประกอบการท่องเที่ยวเชื่อกันว่าอาจมีการทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาลต่อไป ในลักษณะการก่อการจลาจลในรูปแบบของกระบวนการใต้ดิน ที่มีกระแสออกมาอย่างต่อเนื่อง
       
       เมื่อปัญหาที่เกิดขึ้นยังไม่อาจมีข้อยุติอย่างแท้จริง ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงหวาดระแวงที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยอยู่โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวโซนเอเชียด้วยกัน อาทิ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ที่มีความอ่อนไหวในเรื่องนี้มาก ความพยายามของภาครัฐที่จะร่วมมือกับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวปั้นตัวเลขรายได้ให้กลับเข้ามาอีกครั้งในตอนนี้คงจะยังไม่พออีกต่อไป เพราะอย่าลืมว่าการเพิ่มตัวเลขให้ยกกำลังขึ้นมาอีกเป็นหลายเท่าตัว ก็ต้องมีการกระตุ้นเพื่อสร้างแรงจูงใจให้มากยิ่งขึ้นด้วยเช่นกัน
       
       ล่าสุด การปรับตัวของธุรกิจท่องเที่ยวภาคเอกชนเริ่มสั่นคลอนและมีความเคลื่อนไหวออกมาอย่างต่อเนื่องพร้อมทั้งปรับเปลี่ยนยุทธวิธีต่างๆเพื่อให้ธุรกิจนั้นอยู่รอดต่อไป ซึ่งแม้ว่าช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวไฮซีซันที่ผ่านมา ยอดอัตราการเข้าพักของนักท่องเที่ยวจากสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ)   พบว่า 3 เดือนแรกของปีนี้มีการปรับตัวลดลงกว่า 25% โดยเฉพาะเชียงใหม่ลดลงกว่า 60% จากปีก่อน ขณะที่ในช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมานี้ ซึ่งกำลังจะเข้าสู่ช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว คาดว่าภาพรวมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะมีการปรับตัวลดลงกว่าอีก 40% และมีแนวโน้มในการปรับตัวลดลงอีก  ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมต่างๆ ต้องมีการปรับตัวเพื่อประคองตัวให้อยู่รอด
       
       นั่นจึงเป็นที่มาของการให้พนักงานหยุดงานโดยไม่จ่ายค่าตอบแทนของผู้บริหารระดับสูง รวมถึงลดค่าใช้จ่ายสารพัด ทั้งปิดห้องอาหารที่ไม่สร้างรายได้และลดการทำงานของบางแผนกที่ไม่จำเป็นลง เพื่อรักษาเงินหมุนเวียนที่มีอยู่ให้นานที่สุด ขณะเดียวกันมีการลดเวลาเปิดห้องอาหารบุฟเฟ่ต์ จากที่เคยเปิด 24 ชั่วโมง เป็นแบบมีเวลาเปิด-ปิด และถ้ามีโรงแรมหลายแห่งอยู่ในเครือก็อาจจะใช้วิธีการรวมทีมงานของโรงแรมหลายๆ แห่งเข้ามาทำงานด้วยกัน
       
       แต่การปรับตัวของภาคเอกชนในธุรกิจท่องเที่ยวครั้งนี้ดูเหมือนว่าคงจะไม่เพียงพอที่จะรับมือกับการชะลอตัวด้านการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นอย่างหนักหน่วงได้ เหตุเป็นเพราะยังมีปัจจัยรอบด้านที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและยังไม่มีทีท่าว่าจะผ่อนคลายลงไป แม้ว่าทาง 8 สมาคมท่องเที่ยวไทย อาทิ สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) สมาคมโรงแรมไทย(ทีเอชเอ) สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ(สทน.) สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว(ทีทีเอเอ) สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย(TEATA) สมาคมท่องเที่ยวไทย-จีน สมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย-ญี่ปุ่นและสมาคมขนส่ง จำนวนประมาณกว่า 5,000 บริษัท หรือกว่า 60% ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจะออกมารวมตัวกันอย่างยิ่งใหญ่ในการเสนอทำหนังสือเพื่อเรียกร้องให้ยุติข้อขัดแย้งทางการเมืองต่างๆหวังสร้างความเชื่อมั่นปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว
       
       สอดคล้องกับที่ ประกิจ ชินอมรพงษ์ นายกสมาคมโรงแรมไทย(ทีเอชเอ) ออกมายอมรับว่า เฉพาะแค่ภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวอย่างหนัก ก็ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากอยู่แล้ว แต่ประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องของการชุมนุมภายในประเทศและนับวันยิ่งรุนแรงขึ้นทุกวันทำให้มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากตัดสินใจไม่เดินทางมาประเทศไทย
       
       ขณะที่มาตรการในการให้ความช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยวของรัฐบาล ก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังไม่ได้การขานรับและให้ความช่วยเหลือที่เข้าถึงผู้ประกอบการอย่างแท้จริง ทำให้ภาคการท่องเที่ยวจึงต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือที่จริงจังตามข้อเรียกร้องต่างๆของภาคเอกชน
        
       หืดจับท่องเที่ยวไทย
        
       ปัจจุบันไทยต้องเผชิญกับผลกระทบถึง 2 เด้งคือความวุ่นวายทางการเมืองและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่เชื่อกันว่าแนวโน้มของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกระหว่างปี 2552-2554 นั้นจากภาพรวมของเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ในปี 2552 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เติบโตแค่ 3.5% เท่านั้นลดลงจากปี 2550 ที่เคยเติบโตจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 8.4 ทีเดียว
       
       ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวจากยุโรป, อเมริกาเหนือ, เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ, เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีแนวโน้มท่องเที่ยวในเอเชีย-แปซิฟิกลดลง ขณะที่ตลาดตะวันออกกลาง เริ่มมีแนวโน้มท่องเที่ยวในเอเชียแปซิฟิกเพิ่มขึ้น
       
       สำหรับประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบซ้ำเติมจากปัญหาการเมืองส่งผลให้มีการฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นในเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวออกมายอมรับว่าไทยเสียโอกาสไป เพราะแม้การท่องเที่ยวโลกจะตกต่ำแต่แนวโน้มการท่องเที่ยวของเอเชีย-แปซิฟิกก็ยังดีกว่าภูมิภาคอื่น
       
       จะว่าไปแล้วการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวอาจจะมีการใช้จ่ายมากขึ้น เพราะนักท่องเที่ยวยังคงต้องเดินทางท่องเที่ยวอยู่ แต่ลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยลง อาทิ ปรับจากการพักโรงแรม 5-6 ดาว ก็หันมาพักโรงแรม 4 ดาว หรือแม้แต่เคยใช้บริการเครื่องบินชั้นธุรกิจ หรือชั้นหนึ่ง ก็อาจจะเปลี่ยนมาขึ้นชั้นประหยัดแทน หรือไม่ก็ปรับตัวไปใช้สายการบินโลว์คอสต์กันเลย สังเกตได้จากการเติบโตของสายการบินโลว์คอสต์ของภูมิภาคยุโรปและเอเชียในปัจจุบันมีเพิ่มขึ้น
       
       ไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวของแอร์เอเชีย มาเลเซีย ที่เปิดบินไปยุโรป อาทิ เส้นทางกัวลาลัมเปอร์-ลอนดอน ราคาตั๋วไปกลับแค่เพียง 100 ปอนด์ หรือ 6,000-7,000 บาทเท่านั้น และเชื่อว่าปี 52แอร์เอเชียจะสามารถขายที่นั่งได้กว่า 1.8 ล้านที่นั่ง หรือเพิ่มขึ้นกว่า 20% ขณะที่ตัวเลขการบินของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) ซึ่งไม่ได้นับรวมตัวเลขจากสายการบินโลว์คอสต์ นั้นกลับมียอดตัวเลขลดลงอย่างน่าใจหาย โดยปีนี้มีการคาดการณ์ว่าจะขาดทุนไม่ต่ำกว่า 4.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯเลยทีเดียว
       
                 การแข่งขันในภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทยปัจจุบันต้องเผชิญกับผลกระทบต่างๆที่ไม่ค่อยสู้จะดีนัก ขณะเดียวกันต้องเผชิญกับการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียที่ต่างหันมาดัมพ์ราคาขายท่องเที่ยวลงอย่างน้อยกว่าร้อยละ 20 และคาดว่าสงครามราคาจะมีผลต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 1 ปีครึ่ง
       
       การส่งสัญญาณภาพลบที่เกิดขึ้นเหล่านี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าที่ผ่านมาแม้ภาคเอกชนจะพยายามที่จะแก้ไขปัญหาจนถึงที่สุดแล้ว แต่หากภาครัฐไม่มีมาตรการอะไรออกมาช่วยเหลือภาคท่องเที่ยวจึงเชื่อได้ว่าภายใน 2 เดือนต่อจากนี้ไป จะมีคนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกว่า 1 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นบุคลากรที่ทำงานในธุรกิจโรงแรม 500,000 คน จำนวนกว่า 10-15% หรือคาดว่าจะมีคนตกงานประมาณ 5-7.5 หมื่นคน โดยเฉพาะเชียงใหม่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งหลังสงกรานต์คาดว่าจะมีการปลดพนักงานกว่า 25% จาก 2.6 หมื่นคนหรือจำนวนกว่า 6 พันคนทีเดียว
       
                       ปัจจัยลบทั้งเรื่องการเมืองในประเทศที่รุนแรงมากขึ้นทุกวัน ประสานกับเศรษฐกิจ ทั่วโลก และเศรษฐกิจในประเทศที่ซบเซาลงอย่างมาก ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวไทยในปีนี้ ปิดประตูตายสำหรับเป้าหมายนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 14 ล้านคน และนักท่องเที่ยวในประเทศที่หวังว่าจะได้ 84 ล้านคนครั้ง อย่างแน่นอน
       
                   ขณะที่หน่วยงานหลักอย่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงขาดหัวเรือใหญ่มีเพียงรักษาการผู้ว่าการททท.เท่านั้น ทำให้แผนการตลาดสำหรับกระตุ้นท่องเที่ยวยังทำได้ไม่เต็มที่นัก
       
                 ประกอบกับแผนการตลาดสำหรับกระตุ้นตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นแผนการตลาดที่ 'คิด' ขึ้นมาก่อนที่จะประเทศไทยจะมีความไม่สงบทางการเมืองหนักหน่วงอย่างที่เป็นอยู่ ซึ่งถือว่า 'ความแรง' ยังไม่ถึงขั้นที่จะ 'ฟื้นท่องเที่ยวไทย' ได้
       
                 หลังจากนี้ไป ททท.อาจต้องเดินหน้าทำการตลาดในเชิงรุกอย่างหนัก และในทุกๆ ตลาดเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้กลับคืนมาอย่างเร็วที่สุด
       
                 เมื่อสถานการณ์เมืองไทยมีม็อบเต็มบ้านความวุ่นวายเต็มเมือง นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะเปลี่ยนจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวไปยังประเทศใกล้เคียงอย่างมาเลเซียและเวียดนาม ที่ในขณะนี้กำลังโหมทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ประเทศของตัวเองในตลาดโลกอย่างเต็มที่
       
                 นอกจากนี้ ในช่วงระยะเวลาอันสั้น ททท.และภาคเอกชนหากไม่ร่วมมือกันหาแผนกระตุ้นอารมณ์นักท่องเที่ยวให้ยอมควักเงินในกระเป๋าออกมาใช้จ่ายในมุมของการท่องเที่ยว หรือยังคง 'ดื้อ' ใช้แผนตลาดเดิมๆอย่างที่เป็นอยู่เชื่อได้ว่าตลาดท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศก็คงจะหดตัวลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
       
                ดังนั้นสิ่งที่ภาคเอกชนควรจะต้องทำอย่างเร่งด่วนในเวลานี้ก็คือ ต้องช่วยเหลือตัวเอง มากกว่า 'รอ' การช่วยเหลือจากภาครัฐ
http://www.khum.net/news-read/1182882


Hotmail® has a new way to see what's up with your friends. Check it out.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ข่าวสาร ข้อมูล ทุกด้านต้องรับฟัง ไม่เชื่อสิ่งที่เห็น ฟังข่าวสารเพียงฝ่ายเดียว ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew ● ปรึกษาปัญหากฏหมาย ละเมิด,สัญญา,อายัดทรัพย์ ยึดทรัพย์ ปัญหาติดต่อราชการ ฟรี ● พิมพ์รายงาน,ค้นหาข้อมูล, ● งานพิมพ์ Lay-Out,Art Work สำนักพิมพ์ดาวหาง www.sanamluang.bloggang.com สนใจติดต่อสอบถาม workingmailhome@hotmail.com

รายการบล็อกของฉัน