ปลูกรักคืนนาคา "พลับพลึงธาร"
คอลัมน์ สดจากเยาวชน
จาวรี ทองดีเลิศ
![]() |
ชาวบ้านในชุมชนรวมตัวกันในนาม "ชมรมเพลินไพรศรีนาคา" ส่วนเด็กๆ ก็รวมตัวกันในนาม "กลุ่มเด็กรักษ์พลับพลึงธาร" และยังคงทำกิจกรรมนี้อนุรักษ์พิทักษ์คลองมาอย่างต่อเนื่อง
"สมัยก่อนตอนที่ผมยังไม่เกิด แม่บอกว่ามีพลับพลึงธารเต็มคลองนาคาเลยครับ" โปเต้ ด.ช.ธนกร อุ่นขาว หนึ่งในสมาชิกนักอนุรักษ์บอกเล่าการเปลี่ยนแปลงที่ตนได้รู้ได้ฟังจากแม่และผู้ใหญ่ในชุมชน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นทุกๆ ปีจนสังเกตได้
โปเต้เล่าว่า "ตอนผมเป็นเด็กเล็กๆ กับตอนนี้ต่างกันมากครับ ตรงจุดที่เรียกว่าวังยาวซึ่งอยู่หลังบ้านผม เมื่อก่อนมีพลับพลึงธารมากกว่านี้ พอถึงช่วงออกดอกจะขาวเต็มเลย แต่ตอนนี้ก็ลดลงไป"
นักอนุรักษ์แห่งสายน้ำอย่างโปเต้รวมถึงทุกคนในชุมชนรู้คุณค่าความสำคัญของพืชชนิดนี้ และยกย่องเป็นราชินีแห่งสายน้ำ เพราะพลับพลึงธาร ต้นหอมน้ำ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าหญ้าช้องจะอยู่ได้ต่อเมื่อมีน้ำที่สะอาด ค่าตะกอนต่ำ และปริมาณออกซิเจนสูง จึงเป็นดัชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของสายน้ำได้เป็นอย่างดี
![]() |
ที่สำคัญพืชชนิดนี้มีความพิเศษที่เป็นพืชเฉพาะถิ่นพบในแถบรอยต่อระหว่างจังหวัดระนอง พังงา ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีมากที่คลองนาคาหนึ่งเดียวในโลกเท่านั้น
ดอกสีขาวที่แย้มกลีบบานสะพรั่งส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ ในยามเช้า ใบยาวสีเขียวลู่พลิ้วไปตามสายน้ำคล้ายริบบิ้น เพิ่มความงดงามให้คลองนาคาสายนี้เป็นเท่าตัว แต่ก็มีเหตุผลนานาประการที่ทำให้การกระจายพันธุ์ของพลับพลึงธารลดลงอย่างน่าใจหาย
"มีคนขุดหัวพลับพลึงธารไปขายเป็นพืชประดับใต้น้ำ มีการขุดลอกคลองทำให้ตลิ่งพังครับ ทำให้น้ำในคลองไหลแรงและเร็วขึ้นเพราะไม่มีต้นไม้ริมตลิ่งช่วยทานกระแสน้ำ หัวพลับพลึงธารจึงถูกน้ำกระชากหลุดลอยไปครับ" ด.ช.โปเต้ผู้คุ้นเคยกับดอกไม้งามหลังบ้านตระหนักถึงปัญหานั้นเป็นอย่างดี
ชมรมเพลินไพรศรีนาคาและกลุ่มเด็กรักษ์พลับพลึงธารร่วมกันจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ล่องแพแลพลับพลึงธารทุกปี เปิดเป็นเทศกาลท่องเที่ยวตั้งแต่เดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม เพราะเป็นช่วงที่ออกดอกบานสะพรั่งเต็มธาร พร้อมกันนั้นชาวบ้านและเด็กๆ ก็ไม่ลืมที่จะพิทักษ์ราชินีแห่งสายน้ำนี้
"เวลาล่องแพไป เราจะบอกนักท่องเที่ยวให้ช่วยกันเก็บขยะรักษาความสะอาดในลำคลอง ไม่เหยียบทำลายพลับพลึงธารในลำน้ำ และการได้มาล่องแพทำให้เราได้เห็นสภาพสองฝั่งฟากคลองจะได้ช่วยกันเฝ้าระวังคลองด้วยครับ" ด.ช.โปเต้บอกเล่ารูปแบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แห่งนาคา
![]() |
หลังฤดู กาลท่องเที่ยวสิ้นสุดลง ดอกงามก็เริ่มโรยรา ประมาณเดือนกุมภาพันธ์เมล็ดเล็กๆ จะแตกและร่วงหล่นเติบโตต่อไป โปเต้รู้ดีว่าพลับพลึงธารขยายพันธุ์ได้อย่างไรในธรรมชาติ จากการสังเกตของจริงในคลองนาคา และจากการปลูกฝังของพ่อแม่นักอนุรักษ์ที่ทดลองเพาะเลี้ยงเมล็ดพลับพลึงธาร ทำให้ได้รู้ว่ากว่าเมล็ดจะงอกรากใช้เวลา 8 วัน กว่าจะเป็นต้นกล้าที่แข็งแรงใช้เวลานานถึง 3 เดือน กว่าต้นกล้าจะผลิดอกงามให้เห็นต้องรอนานเป็นปีๆ
ทั้งพ่อและแม่ของโปเต้จึงสนับสนุนให้คนในชุมชนหวงแหนทรัพยากรในท้องถิ่น รวมถึงเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงใหญ่ผลักดันกิจกรรมต่างๆ ให้ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
"เราทำบ่ออนุบาลไว้ที่บ้าน ใช้น้ำที่มาจากประปาภูเขาต้นน้ำนาคา และมีการเก็บตัวอย่างเมล็ดพลับพลึงธารมาศึกษา เราจะได้เข้าใจธรรมชาติของมันว่าเติบโตอย่างไร อยู่อย่างไร ใช้เวลาเท่าไหร่ เพื่อที่เราจะได้อนุรักษ์ให้คู่กับคลองนาคาตลอดไป" อิสราภรณ์ อุ่นขาว แม่ของโปเต้บอกเล่า
"หัวพลับพลึงธารในบ่ออนุบาลนี้ เราไปช่วยกันเก็บเมื่อปีที่แล้ว ไปเก็บมาหลายรอบครับ เพราะเวลาน้ำป่ามามันหลุดลอยมากับกระแสน้ำ ติดอยู่ตามขอนไม้หรือริมคลอง ถ้าเราไม่เก็บมามันก็จะลอยลงสู่ทะเลแล้วตายครับ เราต้องเอามาไว้ที่บ่ออนุบาล รอให้รากมันแข็งแรง พวกเราจะช่วยกันเอาต้นกล้าไปปลูกในคลองนาคาอีกครั้ง"
"ต้องปลูกช่วงนี้ เพราะเป็นช่วงที่น้ำลดระดับลง กระแสน้ำไม่แรงมาก ปลูกเพื่อรอเวลาให้รากยึดเกาะดินก่อนที่หน้าฝนจะมาถึง และต้องปลูกตรงจุดที่น้ำไม่เชี่ยว" โปเต้บอกถึงกิจกรรมของนักอนุรักษ์ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง
"ขุดหินออกมาให้เท่าขนาดหัวพลับพลึงธาร และเอาหัวพลับพลึงธารวางลงไปในหลุม เอาก้อนหินทับๆ ไว้ให้แน่นอีกครั้ง" สมาชิกทุกคนรู้วิธีการปลูกและช่วยกันเต็มที่
ผ่านไปอาทิตย์ สองอาทิตย์ รากของพลับพลึงธารจะยึดเกาะดินไว้มั่น พอฤดูฝนมาถึงราชินีแห่งสายน้ำก็จะฟื้นคืนชีวิตเติบโต งอกใบสีเขียวพลิ้วยาวตามกระแสน้ำ และชูช่อออกดอกหอมตลอดคลองนาคาที่ยาว 7 กิโลเมตรอีกครั้งเมื่อฤดูกาลเบ่งบานมาถึง
เป็นกำลังใจให้ภารกิจยิ่งใหญ่พลังเล็กๆ ของลูกหลานลำนาคา ฟื้นชีวิตราชินีแห่งสายธาร ในรายการทุ่งแสงตะวัน ตอน "คืนสู่สายน้ำ" เช้าวันเสาร์ที่ 9 พ.ค.2552 เวลา 06.25 น. ทางช่อง 3 อสมท. www.payai. com
หน้า 24
http://www.matichon.co.th/khaosod/view_news.php?newsid=TURONWIzVXdNVEE0TURVMU1nPT0=§ionid=TURNeE1RPT0=&day=TWpBd09TMHdOUzB3T0E9PQ==
Insert movie times and more without leaving Hotmail®. See how.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น