ชื่อนั้นสำคัญฉะนี้ (4)
คอลัมน์ ประสานักดูนก
โดย นสพ.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว
![]() นกอีก๋อยใหญ่สวมธงสีก่อนปล่อยคืนธรรมชาติ |
เสียง กาๆ ที่ปัจจุบันอาจจะไม่คุ้นหูเยาวชนไทยแล้ว เพราะ อีกา นกตัวดำๆ แต่ฉลาดเป็นกรด ลดน้อยถอยจำนวนลงไปมากกว่าแต่เดิม ที่พบเห็นได้ทั่วไทย บางชื่อใช้การเปรียบเทียบจากนกชนิดที่คุ้ยเคย เช่น อีแก ซึ่งก็เป็นนกวงศ์กาเช่นเดียวกับอีกา พบเห็นได้ยากเนื่องจากมีจำนวนน้อย จำกัดพื้นที่เฉพาะในภาคใต้ เช่น จ.ภูเก็ต หากเสียงร้องแปร่งหูคน ต่างจากอีกา จึงถูกเรียกให้รู้ว่าเป็นอีแก ที่ไม่ใช่อีกา
บางชื่อแม้จะเลียนเสียงนกร้องได้ตรงตามหูคนไทย ถ้าไม่ได้ศึกษาทำความรู้จักนกจากหนังสือคู่มือดูนก หรือได้ยินเสียงนกตัวจริงร้องในธรรมชาติก็อาจงุนงงได้ง่ายๆ เช่น ชื่อของ นกเงือก สัญลักษณ์ของป่าดิบอันอุดม
นกกก หรือ นกกาฮัง นกเงือกขนาดใหญ่ที่ส่งเสียงร้องประกาศฉายาของตนเอง แม้เสียงร้องของนกกกจะเหมือนนกเอื้อนเบาหวิวแผ่วล้า หากส่งเสียงทอดสำเนียงไปได้ไกลหลายร้อยเมตร เพราะนกมักจะร้องอยู่บนเรือนยอดไม้สูง หรือ นกแก๊ก นกเงือกตัวเล็กๆ ส่งเสียงแหลม แก๊ก-แก๊ก-แก๊ก ซ้ำๆ กันเจี๊ยวจ๊าวรวมกันหลายตัวในฝูงเล็กๆ
พวก นกโพระดก ก็มีชื่อชวนให้คิดถึงที่มาว่าคนตั้งล้อเสียงใดหรือ เช่น นกตีทอง นกโพระดกตัวเล็กสุดในเมืองไทย ยามจะประกาศอาณาเขตแสดงความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของโพรงน้อยในกิ่งไม้ หรือจะชักชวนตัวเมียให้ร่วมหอลงโรง จะเกาะเด่นบนต้นไม้หรือสายไฟฟ้า โก่งคอขัน ต๊งๆๆ กังวานไกลไปสามบ้านแปดบ้าน เขาว่าเสียงนี้คล้ายช่างตีเหล็กที่กำลังตีแผ่นทอง
หรือ นกตั้งล้อ นกโพระดกขนาดใหญ่ที่สุดในบ้านเราที่เป็นพวกนกดง นกดอย หาใช่นกบ้าน นกเมือง เช่นนกตีทอง ส่งเสียงร้องว่า ตั้ง-ล้อ จึงได้ชื่อนั้นมาง่ายๆ โดยไม่แฝงความแยบคายใดๆ แม้แต่น้อย แต่ก็คงงงหากได้ยินเป็นครั้งแรกและไม่ทราบต้นสายปลายเหตุ
แม้ในนกกลุ่มเดียวกันที่มีวิวัฒนาการร่วมกันในกลุ่มนกคัคคู เช่น นกกาเหว่า และ นกกะปูด แต่เสียงร้องกลับแตกต่างกันสิ้นเชิง แม้ว่าชื่อของนกจะเรียกล้อตามเสียงร้องก็ตาม
บางชื่อผิดแผกเหมือนอ้างอิงตำราต่างเล่ม เพราะการรับรู้ผ่านประสาทหูของคนฝรั่งและคนไทย สร้างจินตภาพต่อเสียงนกที่ได้ยินต่างกันออกไป แม้จะเป็นนกชนิดเดียวกัน คนไทยเรียกชื่ออย่าง ฝรั่งเรียกอีกอย่าง เช่น นกอีก๋อย (Curlew) เป็นนกชายเลน ขนาดใหญ่ที่มีจะงอยปากยาวโค้งโน้มลงสู่ดิน คนไทยฟังเสียงแล้วก็บอกนกร้องว่า "ก๋อยๆๆ" แต่ฝรั่งไพล่ได้ยินไปอีกอย่างว่า "เคิร์ล-ลู" หรือ "เคอร์-ละ-ยู" แบบนี้ใช่ว่าจะเป็นพวกฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียด หากเป็นฟังได้ศัพท์สองคำต่างภาษา ไม่มีผิดถูกกระไร
หรือ นกมูม นกพิราบป่าขนาดใหญ่ ที่อิริยาบถสุภาพเรียบร้อยตามประสานกพิราบ ส่งเสียงทุ้มนุ่มเฉื่อยๆ ว่า มูมๆๆ ไม่ได้มูมมามกินลูกไม้จนเลอะเทอะเปรอะเปื้อนเหมือนพวกนกปรอดหรือนกเอี้ยงที่จิกกินลูกตำลึงสุกสีแดงจนเปรอะจะงอยปาก
จะเห็นว่านกหลายชนิด ส่งเสียงร้องบอกนามของตน แม้นกจะไม่รู้หรอกว่าคนเราเรียกชื่อตัวตนว่าอย่างไร หากเสียงของนกสื่อสัญญาณเพื่อประกาศอาณาเขตและการร้องหาคู่ผสมพันธุ์ แต่คนเรา โดยเฉพาะนักดูนกใช้เสียงนกเป็นเสมือนสะพานลา ช่วยจำชื่อ ยิ่งได้ยินเสียงจากประสบการณ์จริงในธรรมชาติ ยิ่งเข้าใจแจ้งถึงเหตุแห่งการตั้งชื่อ
อีกทั้งยังช่วยค้นหาตัวนก ยามได้ยินแต่เสียงแต่ไม่พบเห็นนกที่อาจหลบซ่อนตัวอยู่ในป่า และเป็นตัวช่วยจำแนกชนิดที่ชุดขนคล้ายกัน หากเสียงร้องต่างกันออกไปเป็นเอกลักษณ์ต่างตัว
ดังนั้น การเรียนรู้เรื่องเสียงร้องของนกช่วยเติมเต็มอีกแง่มุมหนึ่งการดูนกให้สนุกขึ้นด้วยการเรียนรู้จากประสบการณ์ด้วยตนเอง
หน้า 21
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01sun03310552§ionid=0120&day=2009-05-31
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น