ลัดเลาะสองฝั่งโขง ตามพ่อใหญ่หาปลา (1) ปากมูล...ความขัดสนในความสมบูรณ์
โดย ภาสกร จำลองราช padsakorn@hotmail.com
![]() พ่อใหญ่ทองกำลังโชว์ปลาเล็กปลาน้อยที่หาได้จากลวงในน้ำโขง |
เมื่อน้ำโขงเริ่มขุ่นเป็นสัญญาณของน้ำแรกว่าปลาเล็กปลาน้อยกำลังว่ายห่างออกไป แต่อีกไม่นานปลาใหญ่ก็กำลังจะตามมา
ฤดูกาลหาปลาของคนปากมูลและริมโขง แม้ปีนี้จวนเจียนล่วงเลยเดือนพฤษภาคมแล้ว แต่ยังไม่มีทีท่าว่าคนมีอำนาจจะเห็นใจปลาที่สู้อุตส่าห์อุ้มท้องแหวกว่ายมาจากแดนไกลตามลำน้ำโขง เพื่อวางไข่และหากินตามลุ่มน้ำสาขาต่างๆ โดยเฉพาะแม่น้ำมูล ซึ่งเป็นแหล่งธรรมชาติสำคัญของฝูงปลามานานนับร้อยนับพันปี
ประตูทุกบานของเขื่อนปากมูลยังคงปิดสนิท ทำให้ฝูงปลาจำนวนมากไปออกันอยู่หน้าเขื่อน มีเพียงคนบ้านหัวเหว่หมู่เดียวเท่านั้นที่หาปลาได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ชุมชนที่อยู่เหนือเขื่อน ทำให้แต่เพียงรอ...รอ...แล้วก็รอวันที่ประตูเขื่อนจะเปิด
ถ้าเป็นเมื่อก่อน ป่านนี้ชาวบ้านย่านนี้อยู่กันแต่ในแม่น้ำมูลแล้ว
หลายคนที่อยู่ริมแม่มูลจึงต้องหาทางออกด้วยการไปหาปลาในน้ำโขงแทน ทำให้บรรยากาศถิ่นที่อยู่ของพญานาคเป็นไปอย่างคึกคัก
"เมื่อ 2-3 วันก่อน เรือหาปลาหลายกว่านี้ ตอนนี้ปลาเล็กปลาน้อยเริ่มไปหมดแล้ว" การหาปลามาตั้งแต่ตัวกระเปี๊ยก ทำให้พ่อใหญ่สมเกียรติ พ้นภัย แห่งบ้านด่าน ปากมูล เข้าใจระบบนิเวศและฤดูกาลของการหาปลาเป็นอย่างดี "พอน้ำโขงขุ่น มันก็กระจายไปตามลุ่มน้ำสาขาต่างๆ"
เช้านี้ผมมีโอกาสนั่งเรือลำน้อยตามพ่อใหญ่สมเกียรติไปไหลมองกลางน้ำโขงซึ่งกำลังคึกคัก แตกต่างจากลำน้ำมูลอันแสนเงียบเหงา
![]() เรือประมงจอดสงบนิ่งหน้าเขื่อนปากมูลระหว่างรอหาปลา |
ก่อนหน้านั้นผมได้แวะไปบ้านนาหว้า ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำมูลช่วงเหนือเขื่อน แม้น้ำจะเอ่อล้นตลิ่ง แต่กลับอ้างว้าง เพราะแทบไม่มีใครหาปลา
"โอ้ย ใครมันจะไปหา เขายังไม่เปิดเขื่อน จะไปเอาปลาที่ไหน" ชาวบ้านนาหว้ายืนยันผลสะเทือนจากการปิดประตูเขื่อนเป็นเสียงเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านพวกเขาต่างเรียกร้องให้เปิดประตูเขื่อนตั้งแต่ก่อนฤดูฝนแล้ว เพราะเป็นช่วงที่ปลาเริ่มเข้ามาวางไข่ แต่ทางการและหน่วยงานที่รับผิดชอบคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. พยายามโยกโย้ เพราะไม่เคยรู้จักธรรมชาติและเข้าถึงความเดือดร้อนของชาวประมง
สุดท้ายมติในที่ประชุมของจังหวัดในปีนี้ยืนยันเหมือนเอื้ออารีให้เปิดประตูเขื่อนให้ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน ซึ่งชาวบ้านได้แต่จำใจรับสภาพเพราะไม่มีทางเลือก หลายบ้านที่เตรียมมอง เตรียมตาข่ายไว้แล้ว ก็ต้องเก็บไปแขวนไว้ข้างฝาต่อไป
พ่อสมเกียรติพาผมแวะคุยกับชาวประมงลำโน้นลำนี้มากกว่าตั้งใจจะหาปลา ชาวบ้านต่างแจ้งข่าวกันว่า ปลาเล็กปลาน้อยที่เอามาทำปลาแดกอพยพผ่านไปแล้ว
"ตอนนี้เพิ่งได้ปลาแดก 4 ไห แต่ปีกลายได้ 300 กว่าไห เอาไปแลกข้าว" พ่อใหญ่ทองเงยหน้าขึ้นมาคุยระหว่างสาวมอง แกโชคดีที่มี "ลวง" เป็นของตัวเอง ทำให้ไม่เคยอดปลา
ลวงเป็นแหล่งหาปลาในแม่น้ำที่ชาวบ้านจับจองไหลมอง ต่างคนต่างมีแหล่งของตัวเองจนเป็นวิถีประชาและกลายเป็นมรดกของครอบครัวที่ธรรมชาติมอบให้ ซึ่งพวกเขาต่างเคารพในกรรมสิทธิ์ของกันและกันโดยไม่ต้องมีกฎหมายบังคับ
"พ่อเองก็บ้านแตกสาแหรกขาดตั้งแต่มีเขื่อน เพราะมันหาปลาไม่ค่อยได้ ลูกๆ 6-7 คน ต้องแยกย้ายกันเข้าไปหางานทำในเมือง เหลืออยู่บ้านเพียงคนเดียว" พ่อใหญ่ทองสะท้อนถึงความสะเทือนในชีวิตจริงที่ได้รับจากเขื่อนปากมูล "ญาติพี่น้องที่เคยเอาข้าวมาแลกกับปลาก็ห่างหายไปเยอะ"
![]() พ่อค้าปลากำลังลำเลียงปลาใหญ่ที่ซื้อมาจากปากเซ ฝั่งลาวเพื่อนำไปขายในตลาดอุบลฯ |
เขื่อนปากมูลไม่ได้ส่งผลเฉพาะชาวบ้านโดยรอบ แต่ยังกระทบเป็นลูกโซ่ไปตลอดลำน้ำมูลอีสานตอนล่างซึ่งลึกเข้าไปถึงเมืองโคราช สายสัมพันธ์อันยาวนานของคนบ้านพี่เมืองน้องถูกบั่นเป็นท่อนๆ ตามขั้นเขื่อนที่กั้นตลอดลำน้ำมูล
"นี่ถ้ากั้นเขื่อนกลางลำน้ำโขงอีกก็ไม่รู้จะอยู่อย่างไร" แม้วัยย่าง 73 แล้ว แต่พ่อใหญ่ทองยังคงยึดอาชีพหาปลา แต่ข่าวการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม ซึ่งอยู่ไม่ห่างออกไป ทำให้แกรู้สึกหดหู่และกังวลอย่างยิ่ง เพราะประสบการณ์ที่ได้รับจากการสร้างเขื่อนปากมูลนั้นหนักหนาสาหัสอยู่แล้ว
"เขาคงต้องรักษาเขื่อนปากมูลไว้ ทั้งๆ ที่รู้ว่าประโยชน์ได้ไม่คุ้มเสีย เพราะเป็นโครงการนำร่อง เลยยอมรับว่าผิดพลาดไม่ได้" พ่อใหญ่สมเกียรติวิเคราะห์เสริม ทุกวันนี้แกกลายเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญในการตะโกนบอกสังคมถึงความล้มเหลวในโครงการสร้างเขื่อนปากมูล
"เมื่อก่อนพอช่วงน้ำลด พวกเราพาครอบครัวล่องขึ้นไปเรื่อยๆ ตามน้ำโขง ค่ำไหนนอนนั่น ไปกันทีละ 10-20 คน แต่เดี๋ยวนี้บรรยากาศอย่างนั้นแทบไม่มีเหลืออยู่แล้ว" พ่อสมเกียรติเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของชุมชนชาวประมง
ทุกวันนี้แม้ชาวบ้านริมน้ำโขงย่านปากมูลยังคงพอหาปลาได้ แต่นับวันการทำมาหากินยิ่งฝืดเคือง ลึกเข้าไปในฝั่งตรงข้ามปากมูล พี่น้องลาวย่านเมืองโขง แขวงจำปาสัก กำลังคึกคักอยู่กับการหาปลา แต่ละลำเรือขนปลากันเพียบแปล้ หันไปทางใดก็มีแต่ปลา สถานการณ์ช่างแตกต่างกันลิบลับกับเพื่อนบ้านที่ปากมูล ทั้งๆ ที่เป็นสายน้ำเดียวกัน
ทุกข์ของคนเหนือเขื่อน
พ่อใหญ่ถา พบสุข ต้องนั่งรถจากบ้านนาหว้า ซึ่งอยู่เหนือเขื่อนปากมูล เพื่อไปหาปลาในน้ำโขงระหว่างรอให้ประตูเขื่อนปากมูลเปิด
"พวกเราอยากให้เขาเปิดตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม แต่เขาไม่เปิด ทั้งๆ ที่ปลาน้อยไข่เต็มท้องแล้ว มันเลยต้องไปออกันอยู่หน้าเขื่อน" พ่อใหญ่ถารับรู้สถานการณ์ดีเพราะแกตระเวนไปทั่ว
"ปีที่แล้วพวกเราหาปลาในแม่น้ำมูลอยู่ได้ 7 วัน น้ำก็หลากแล้ว ปลากระจัดกระจายไปหมด เขาเปิดเขื่อนให้ช้า"
แม้จะถูกกระแทกและกระหน่ำด้วยโครงการของรัฐจนวิถีชีวิตของพ่อใหญ่และชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล แต่พวกเขาก็ยังมุ่งมั่นที่จะหาปลา เพราะการหาปลาไม่ใช่แค่เพียงอาชีพ แต่เป็นวงจรในวิถีชีวิตของคนย่านนี้
"ตอนนี้เตรียมมองกันไว้หมดแล้ว รอเปิดเขื่อนเมื่อไหร่ก็ลงมูลกันทันที" พ่อใหญ่บอกอย่างกระตือรือร้น ซึ่งตอนนี้ชาวบ้านกำลังเตรียม "ส่าวลวง" ซึ่งเป็นการร่วมกันลงแรงลอกแม่มูลเพื่อให้ไหลมองได้
"เราหากินเพื่อปากเพื่อท้อง ปู่ย่าตายายก็หากินกันเช่นนี้จนเป็นบ้านเป็นเมือง แต่ตอนนี้กลับต้องมาพูดกันเรื่องเปิด (ประตูเขื่อน) 4 เดือน ปิด (ประตูเขื่อน) 8 เดือน คนพูดนะกินเงินเดือน แต่พวกเรามันคนหาเช้ากินค่ำ" เสียงทิ้งท้ายของพ่อใหญ่ฟังแล้วชวนหดหู่ใจ แต่เป็นความจริงในชีวิตของคนเหนือเขื่อน
หน้า 8
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01way01310552§ionid=0137&day=2009-05-31
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น