Life Style : ศิลปวัฒนธรรม
บาม นครแห่งโคลน
โดย : ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์
ข่าวภัยพิบัติที่กระจายไปทั่วโลก ก่อเกิดกระแสความสนใจมุ่งตรงสู่เมืองเล็กๆ ของอิหร่านที่มีนามว่า “บาม” (Bam) มหานครโบราณอายุกว่า 2,000 ปี ซึ่งเลือนหายไปจากความทรงจำของชาวโลกมานาน ให้หวนคืนมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง
ในบรรดามหานครของโลกยุคอดีตกาล “บาม” เปรียบได้กับอัญมณีล้ำค่าที่ถือกำเนิดบนเส้นทางสายไหม เส้นทางการค้าเก่าแก่เชื่อมโลกตะวันออกกับตะวันตกเข้าด้วยกัน แม้ว่าบามจะไม่ใช่นครหลักบนเส้นทางสายไหมอย่างตุนหวงของจีน คัชการ์และเมอฟในเอเชียกลาง หรือฮะมะดานในอิหร่าน แต่บามก็รุ่งเรืองเฟื่องฟูจากการเป็นสถานีค้าขายที่เชื่อมต่อเส้นทางสายไหมสายหลัก สู่เครือข่ายการค้าในเขตที่ราบสูงอิหร่านลงไปจนถึงตะวันตกของชมพูทวีป เมื่อประสานกับเส้นทางคาราวานในอารเบียแล้ว บามจึงเป็นแหล่งส่งผ่านสินค้าจากโลกตะวันออกไปสู่ดินแดนอิหร่าน อารเบีย และทะเลอาหรับ
เมืองบามตั้งอยู่ในแคว้นเคอร์มาน (Kerman) ทางตะวันออกเฉียงใต้ของอิหร่าน ก่อตั้งขึ้นเมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 2-3 โดยราชวงศ์พาเธียน ซึ่งเป็นราชวงศ์ที่ปกครองดินแดนส่วนใหญ่ของอิหร่านระหว่าง 247 ปีก่อนคริสต์กาลจนถึงราว ค.ศ.226
ต่อมาในสมัยราชวงศ์ซัสซานิด (ค.ศ.226-651) บามได้กลายเป็นศูนย์กลางการแสวงบุญ ของศาสนิกโซโรแอสเตอร์หรือพวกที่นับถือลัทธิบูชาไฟ เนื่องจากภายในเมืองบามมีวิหารบูชาไฟตั้งอยู่หลายแห่ง
เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 10-12 ในสมัยอิสลาม บามเติบโตอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นศูนย์กลางการค้าเขตดินแดนตอนในของอิหร่าน หนังสือซุรัต อุล อัดร์ หรือภูมิลักษณ์ของโลก เขียนโดย อาบูลกาซิม อิบน์ฮอร์กุล (ค.ศ.943-969) นักเดินทางและนักภูมิศาสตร์ชาวอาหรับกล่าวว่า บามเป็นแหล่งรวบรวมฝ้ายคุณภาพดี รวมทั้งแพรพรรณนานาชนิดซึ่งส่งไปขายไกลถึงอิรักและอียิปต์
ในสมัยราชวงศ์ซาฟาวี (ค.ศ.1502-1722) บามจัดเป็นมหานครขนาดใหญ่ไม่แพ้เมืองสำคัญๆ ของอิหร่าน ตัวเมืองขยายไปจนมีขนาดถึงราว 6 ตารางกิโลเมตร ล้อมรอบด้วยกำแพงและป้อมปราการถึง 38 แห่ง มีผู้คนอาศัยอยู่ประมาณ 9,000 ถึง 13,000 คน
เมืองบามเริ่มลดความสำคัญลงราว ค.ศ.1722 เมื่อกองทัพของพวกอัฟกันรุกรานเข้ามาสู่อิหร่าน ทำให้พลเมืองอพยพลี้ภัยออกไป จนถึง ค.ศ. 1890 ในสมัยราชวงศ์กอญัร (ค.ศ.1781-1925) ทางราชการได้ประกาศให้ประชาชนอพยพออกจากเขตเมืองเก่า และใช้ตัวเมืองโบราณเป็นป้อมทหาร เมื่อถึง ค.ศ.1932 ในสมัยราชวงศ์ปาห์ลาวี (ค.ศ.1925-1979) รัฐบาลอิหร่านประกาศให้บามเป็นเขตโบราณสถาน และได้เริ่มดำเนินการบูรณะเมืองมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1950 จนทุกวันนี้
ความมหัศจรรย์ของบามมาจากรูปแบบและเทคนิกการก่อสร้างทางสถาปัตยกรรม ตั้งแต่กำแพงเมือง ป้อมปราการ มัสยิด ศาสนสถาน สถานที่ราชการ ร้านค้าจนถึงบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ล้วนก่อขึ้นจากดินและโคลนซึ่งเป็นวัสดุหลักที่นำมาทำเป็นอิฐตากแห้ง ก่อนนำไปก่อเป็นผนังและโครงสร้าง นอกจากนี้ส่วนของเสาไม้และวัสดุมุงได้มาจากต้นและใบอินทผลัมซึ่งเป็นผลไม้ที่ปลูกกันมากในเขตเมืองบาม
ตลอดเวลากว่าพันปี วิธีการสร้างอาคารต่างๆ ยังคงลักษณะดั้งเดิม ทำให้บามกลายเป็นเมืองโคลนที่ใหญ่ที่สุดในโลก เหตุผลสำคัญที่อาคารส่วนใหญ่ใช้ดินและโคลนพอกพูนเป็นสถาปัตยกรรมต่างๆ เนื่องจากบามเป็นนครกลางทะเลทราย แต่ละปีฝนตกน้อยมากอากาศจึงแห้งแล้ง ดินและดินผสมน้ำหรือโคลนเป็นวิธีการก่อสร้างที่ชาวเมืองคุ้นเคยถ่ายทอดกันมานับพันปี นอกจากนี้ผนังดินยังช่วยป้องกันความร้อนในตอนกลางวัน และช่วยให้ความอบอุ่นในเวลากลางคืนท่ามกลางภูมิอากาศเลวร้ายของทะเลทราย
ความพิเศษดังกล่าว ทำให้ UNESCO ประกาศขึ้นทะเบียนบามเป็นมรดกโลกเมื่อ ค.ศ.2004
หลังแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อ พ.ศ.2546 ทางการอิหร่านได้ดำเนินการบูรณะโบราณสถานที่บามมาตั้งแต่ พ.ศ.2547 มีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปใช้เพื่อค้ำจุนและเสริมโครงสร้างเดิม รวมทั้งนำวัสดุประเภทไฟเบอร์กลาส ที่ทอเป็นแผ่นบางทาบลงไปตามผนัง ก่อนพอกโคลนเพื่อยึดโครงสร้างให้แข็งแรงทนต่อแรงสั่นสะเทือน ต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าเมืองโบราณจะคืนสภาพกลับมางดงามเหมือนเดิมอีกครั้ง
อย่างไรก็ดีการพังทลายของนครแห่งโคลน มิใช่จะเป็นเรื่องเลวร้ายเสียทั้งหมด เพราะนักโบราณคดีได้ค้นพบร่องรอยหลักฐานใหม่ๆ เพิ่มขึ้นอีกมากมายจากการสำรวจขุดค้นเขตเมืองเก่า
อีกไม่นานนักความจริงเกี่ยวกับนครโบราณอายุกว่า 2,000 ปี คงได้เปิดเผยต่อชาวโลก และอาจช่วยไขปริศนาที่ผู้คนยุคก่อนทิ้งไว้ให้คนรุ่นใหม่ได้ค้นหาคำตอบต่อไป
...........................................................
(ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น