ชื่อนั้นสำคัญฉะนี้ (3)
คอลัมน์ ประสานักดูนก
โดย น.สพ.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว fvetchk@ku.ac.th
![]() นกกินปลีอกเหลือง |
ชื่อนกชวนให้คิดและพินิจถึงที่มาของชื่อนั้น เป็นการบอกกลายๆ แบบแนบความให้รู้ว่านกกินอะไรเป็นอาหาร แม้จะไม่ครอบคลุมอาหารทั้งหมดก็ตาม เช่น เหยี่ยวแมลงปอ นกล่าเหยื่อที่ตัวเล็กที่สุดในโลก มักเกาะนิ่งรอคอยแมลงปอ จั๊กจั่น ด้วงหรือแมลงชนิดอื่นบินผ่านกิ่งไม้แห้งแล้วบินไปจับมาฉีกกินที่คอนเดิม
หรือ เหยี่ยวค้างคาว เหยี่ยวหายากตัวกลั่นเฉพาะที่ภาคใต้ บินล่าค้างคาวยามพลบค่ำ
บางชื่อบ่งบอกประเภทของอาหารแล้วยังแฝงขนาดของทั้งเจ้าของชื่อและเหยื่อไปในตัว เช่น เหยี่ยวนกกระจอก และ เหยี่ยวนกเขา เป็นนกล่าเหยื่อในสกุลเดียวกัน หาก เหยี่ยวนกกระจอกมีรูปลักษณ์บอบบางกว่าเหยี่ยวนกเขา มักล่านกเล็กๆ เช่น นกกระจอก นกกระจาบ นกกระจิบหรือสัตว์อื่น เช่น กิ้งก่า จั๊กจั่น
ดังนั้น คำว่า "นกกระจอก" ในชื่อเหยี่ยวจึงเป็นเสมือน สัญลักษณ์เชิงเปรียบเทียบหรือมาตรวัดว่าเหยี่ยวนกกระจอก เล็กกว่าเหยี่ยวนกเขา ที่อาจสามารถล่านกเขา นกพิราบ หรือแม้กระทั่งหนูนา หรือกระรอก กระแตในป่าด้วย
ในกลุ่มนกล่าเหยื่อหรือนกนักล่า ใช้ประเภทของอาหารเป็นหลักในการจัดแบ่งอนุกรมวิธานหลายตัวทีเดียว ทั้งนี้ ส่วนใหญ่จะเป็น เหยี่ยว (Hawk) ในภาษาไทย แม้ว่าบางสกุลควรจะเรียกว่า นกอินทรี (Eagle) หากถอดความโดยพยัญชนะจากภาษาอังกฤษก็ตาม
เช่น เหยี่ยวปลา อาศัยอยู่ตามลำธารในป่าดิบ หรือแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น อ่างเก็บน้ำ หรือเขื่อน ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Fish-eagle
แต่ในภาษาไทย ความแตกต่างของเหยี่ยวและนกอินทรีที่คุ้นเคยกัน คือ ขนาด
ถ้าเป็นเหยี่ยว ตัวเล็ก แต่นกอินทรี ตัวใหญ่ มีขนคลุมหน้าแข้งจรดข้อตีนด้วย ทำให้นกล่าเหยื่อบางสกุลจึงสื่อความไม่ตรงกันระหว่างชื่อไทยและชื่ออังกฤษ
ฝรั่งตั้งชื่อตามลักษณะทางกายวิภาค หากคนไทยเรียกตามความคุ้นเคยประสาท้องถิ่น แม้ว่าอาจจะไม่ตรงตามหลักการของฝรั่งคิดและตราไว้ หากสื่อความได้ชัดเจนไม่แพ้กัน เช่น เหยี่ยวปลา เหยี่ยวกิ้งก่า เหยี่ยวผึ้ง เหยี่ยวขาว เหยี่ยวดำ หรือเหยี่ยวแดง
นอกเหนือจากนักล่าแล้ว นกชนิดอื่นๆ อีกมากที่ชื่อ สื่อนัยยะของอาหารที่นกกิน นกนานาชนิดกินอาหารจิปาถะ ทั้งพืชและสัตว์ ตั้งแต่เมล็ดพืช แมลง ลูกไม้ น้ำหวานหรือสัตว์อื่นๆ แม้จะไม่ใช่นกนักล่าก็ตาม ความรู้เรื่องอาหารของนกช่วยการจำแนกชนิด และจัดนกเป็นกลุ่มๆ ง่ายต่อการจดจำและเปรียบเทียบเพื่อเรียนรู้นกตัวใหม่ๆ ต่อไป
ในบรรดา นกสวน นกเมืองที่อาจพบในสวนหลังบ้าน หรือสวนสาธารณะกลางเมืองใหญ่ยามดอกไม้บานสะพรั่ง คือ นกกินปลี ที่มีจะงอยปากยาวโค้ง สอดไส้ด้วยลิ้นเรียว ม้วนกลายเป็นหลอดดูดน้ำหวาน มักพบเกาะบนปลีกล้วยเพื่อดูดน้ำหวาน
กระนั้นก็ใช่ว่านกจะช่างเลือกเรื่องมาก เจาะจงเฉพาะปลีกล้วย ดอกไม้ดอกไหนก็ได้ที่มีน้ำหวาน เจ้ากินปลีบินรี่ไปดูดกินทั้งนั้นแหละครับ
บางชื่ออ่านแล้วอาจนึกที่มาหรือนัยยะไม่ออก ว่าต้องการจะสื่ออะไร เพราะใช้คำท้องถิ่น เช่น นกกินเปี้ยว เป็นนกกระเต็นชนิดหนึ่งที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเลหรือป่าชายเลน อาหารอันโอชะของนกกระเต็นชนิดนี้ คือ ปูเปี้ยว ปูทะเลที่อาศัยอยู่ตามป่าชายเลนหรือป่าโกงกาง
หรือ นกกินแมลง ที่ชื่อก็บอกโต้งๆ ว่า กินแมลง ไม่กินผัก กินพืชหรือกินเนื้อ แต่อาจสับสนกับนกจับแมลง ที่กินแมลงเหมือนกัน หากพฤติกรรมต่างกันอย่างมาก
เพราะ นกกินแมลงเป็นนกพง นกดงจอมมุด หาแมลงกินด้วยการคุ้ยเขี่ย ค้นหาบนใบไม้ หรือตามพื้นล่างของป่า หรือในพุ่มไม้ แต่ นกจับแมลงเป็นนกที่โล่ง จะเกาะกิ่งไม้เหนือพื้นดินหรือสูงจรดเรือนยอดของต้นไม้ จะได้มองเห็นแมลงบินผ่านได้ง่ายๆ แล้วบินไปจับมากิน
หากสิ่งเหล่านี้ไม่ยากต่อการเรียนรู้ ถ้ารู้จักสังเกตพฤติกรรมของนกแต่ละกลุ่ม อีกแง่มุมหนึ่งของความสนุกที่ได้จากการดูนกครับ
หน้า 21
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01sun03240552§ionid=0120&day=2009-05-24
Windows Live™: Keep your life in sync. Check it out.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น