มิวเซียมภูเก็ต เพื่อ"คน"ในประเทศไทย
คอลัมน์ สยามประเทศไทย
โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

ข้อความที่ว่านั้น พิมพ์อยู่ในคอลัมน์ทอดสมอ Drop Anchor ของหนังสือภูเก็ตภูมิ PHUKET SCAPE รายสามเดือน (ปี่ที่ 3 ฉบับที่ 1) เมษายน-มิถุนายน 2552 เขียนโดยบรรณาธิการบริหาร จะคัดตอนสำคัญมาให้อ่านดังนี้
"ฟ้าสวย ทะเลใส โรงแรมใหญ่ สรรพอาหาร สถานบันเทิง สำหรับเมืองท่องเที่ยวที่โลกคุ้นเคยแห่งนี้คงจะไม่พอเสียแล้ว
ภูเก็ตจะเป็นเมืองท่องเที่ยวนานาชาติ เป็นเมืองนานาชาติ หรือกระทั่งเป็นเมืองสามัญที่มีความปกติสุขโดยไม่ต้องยึดโยงขึ้นกับนานาชาติอย่างมากนั้น เราต้องเร่งสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นรากเหง้าที่มีคุณค่าของเราเองให้ปรากฏ
จำเป็นต้องกลับไปเรียนรู้จากอดีตก็ต้องทำ พร้อมไปกับแสดงให้อาคันตุกะที่มาจากต่างแดนได้รู้จักเนื้อหาสาระของความเป็นภูเก็ต
![]() เมืองผลึกในพระอภัยมณี ตามจินตนาการของสุนทรภู่ คือถลางหรือภูเก็ต แผนที่แสดงฉากและบ้านเมืองต่างๆในพระอภัยมณีอยู่ทางทะเลอันดามัน เสนอโดย "กาญจนาคพันธุ์" (ขุนวิจิตรมาตรา) เป็นท่านแรก ตั้งแต่ พ.ศ. 2490 |
ในส่วนของแหล่งการเรียนรู้และสถานที่แสดงกิจกรรมของท้องถิ่นที่มีคุณค่านั้น นิมิตหมายก็คือภูเก็ตกำลังสร้างพิพิธภัณฑ์ใหม่ๆ ขึ้น มีการพัฒนาพิพิธภัณฑ์เดิม เริ่มมีการรวมตัวกันเป็นเครือข่าย รวมไปถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่มีกิจกรรมหรือข้อมูลความรู้ประกอบ ทั้งภาครัฐและเอกชน
นั่นก็คือ ภูเก็ตกำลังขยับตัวไปสู่เมืองที่มีสถานที่แห่งการเรียนรู้และการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมโดยมีพิพิธภัณฑ์เป็นทัพหน้า"
ผมเคยเขียนไว้ที่ตรงนี้ว่าไม่มี "มิวเซียม" แสดง "กึ๋น" ในแหล่งท่องเที่ยวนานาชาติ (ฉบับวันพุธที่ 20 พฤษภาคม 2552) จะคัดเฉพาะที่สำคัญมาอีกดังนี้
แหล่งท่องเที่ยวที่ออกชื่อมานี้ หน่วยงานปลูกผักชี (โรยหน้า) มักอวดอ้างว่า เป็น "ระดับนานาชาติ" แต่มันน่าอเนจอนาถที่ไม่เคยได้ยินผู้มีอำนาจวาสนาพูดจาถึงมิวเซียมที่แสดง "กึ๋น" (คือ ภูมิปัญญา) ไม่ว่ามิวเซียมท้องถิ่น หรือ "อาร์ต มิวเซียม" แต่มักได้ยินจนหนวกหูคือลงทุนก่อสร้างสถาปัตยกรรมขยะๆ กับมีกิจกรรมทำลายสภาพแวดล้อมทางสังคมและวัฒนธรรม เพื่อกำไรสูงสุดของตัวเองเท่านั้น
ทั้งฝั่งทะเลตะวันออกและฝั่งทะเลตะวันตก ล้วนมีพยานหลักฐานโบราณคดีประวัติศาสตร์บอกความเป็นมาอันยาวนานนับพันๆ ปีของท้องถิ่นนั้นๆ จึงควรมีมิวเซียมจัดแสดงแบ่งปันกับเผยแพร่ความรู้ ทั้งเพื่อคนท้องถิ่น, คนทำงานต่างถิ่นที่ไปรับจ้างอยู่ที่นั่น, และเพื่อนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศ
แต่ไม่มีว่ะ เออ-เอากะมันซี่ ไอ้สังคังสังคมทันสมัย แต่ไร้สมอง
ขอแนะนำให้ใช้คำว่า "มิวเซียม" แทน "พิพิธภัณฑ์" ที่เสียหายไปมากแล้ว เพราะราชการอย่างกรมศิลปากร
ในภูเก็ตยังไม่มีมิวเซียมภูเก็ต จัดแสดงแหล่งเรียนรู้ความเป็นมาของภูเก็ตตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว โดยมีเรื่องราวของทะเลอันดามันเป็นแกนสำคัญ แล้วอธิบายชื่อบ้านนามเมืองในภูเก็ตอย่างสง่างามตามความจริงของภาษามลายูและอื่นๆ
ตัวอย่างสำคัญมากคือชื่อจังซีลอน หรือ Junkceylon ที่อาจารย์ประสิทธิ์ ชิณการณ์ เขียนอธิบาย (ผมขออนุญาตคัดมาพิมพ์ไว้ในพื้นที่สุวรรณภูมิสังคมวัฒนธรรม) อย่างนี้ต้องจัดแสดงไว้ให้เห็นจริง
ทะเลอันดามันมี 3 ส่วนผสมอยู่ด้วยกันคือ 1.ธรรมชาติ 2.เส้นทางอารยธรรมและล่าอาณานิคม 3.พระอภัยมณี
จะเห็นว่าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในจังหวัดภูเก็ตไม่มีประวัติศาสตร์สำคัญ 3 เรื่องที่ยกมา
ชาวภูเก็ตโปรดระวังรักษาตัวเองอย่าให้ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของราชการล้าหลังคลั่งชาติที่อวดความทันสมัย แต่ไร้สมองและไม่พัฒนา ฉะนั้นต้องทำมิวเซียมภูเก็ตเพื่อ "คน" ในประเทศไทย รวมถึงลูกหลานคนภูเก็ต แต่ผลพลอยได้คือการท่องเที่ยว
หน้า 20
http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01pra03280552§ionid=0131&day=2009-05-28
See all the ways you can stay connected to friends and family
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น