| วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11390 มติชนรายวัน
ชื่อนั้นสำคัญฉะนี้ (2)
คอลัมน ประสานักดูนก
โดย น.สพ.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว
 นกลอยทะเลคอแดง
ภาพ : ชัยวัฒน์ ชินอุปราวัฒน์
| นกทั่วโลกมีมากกว่า 9,000 ชนิด นักปักษีวิทยามีหลักการตั้งชื่อนกแต่ละชนิดอย่างไรให้สื่อความและนัยยะเพื่อบ่งบอกตัวตนหรือความแตกต่างระหว่างนกแต่ละกลุ่ม สกุล ซึ่งอาจจะมีความคล้ายของชุดขน พฤติกรรม ถิ่นที่อยู่ หรือเสียงร้อง
จากความเดิมตอนที่แล้ว ในเรื่องชื่อไทยของนกแต้วแล้วชนิดใหม่ Fairy Pitta ขอขยายความเรื่องเหตุที่มาแห่งชื่อของนก
นัยยะของการสื่อความหมายในชื่อนกจัดเป็นกลุ่มได้หลายอย่าง ได้แก่ ลักษณะของชุดขน หรือรูปลักษณ์ (jizz/gesture) เช่น ขนาดลำตัว สีสัน ลวดลาย เป็นเกียรติแด่บุคคล ทั้งที่บุคคลที่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ หรือเทวดา นางฟ้า นางไม้ในเทพนิยาย หรือเทพปกรณัมกรีก-โรมัน ชื่อท้องถิ่นของคนพื้นเมือง เช่น ภาษาถิ่นของแต่ละภาค (รู้จักนกกอหลอกันไหมครับ) ถิ่นอาศัยหรือพื้นที่การแพร่กระจายพันธุ์ เช่น สถานที่พบนกเป็นครั้งแรก ถิ่นอาศัยในฤดูผสมพันธุ์ พฤติกรรมของนก ประเภทของอาหารที่นกกิน หรือเสียงร้องของนก
มีไม่น้อยที่ชื่อเหล่านี้ แม้ไม่สื่อตรงแบบเข้าใจทันทีหากต้องจินตนาการและศึกษาหรือพบเห็นนกตัวเป็นๆ นั่นแหละ ถึงจะแวะบางอ้อ ว่านักดูนกรุ่นเก่าหรือชาวบ้านท้องถิ่นรู้จัก "เล่น" คำกับความหมาย โดยไม่ผิดข้อเท็จจริงแม้แต่น้อย หากย้อนคิดสักนิด สังเกตนกตัวนั้นให้ละเอียดขึ้นอีกสักหน่อยก็จะเข้าใจในเจตนาและนัยยะของชื่อนก
ในบรรดานัยยะของชื่อข้างต้น การตั้งชื่ออิงอ้างลักษณะของชุดขนหรือรูปลักษณ์ จะมีจำนวนมากที่สุด (ลองนับดูครับว่ากี่ชนิดในบรรดานกไทย) อาทิ "นกปากกบ" มีปากกว้างอย่างกับปากกบ "นกกระจิ๊ด" ตัวเล็กกระจิริด "นกกระจ้อย" ก็บ่งบอกขนาดตัวจิ๋วไม่แพ้กัน "นกปีกแพร" เป็นพวกนกเดินดงอาศัยบนดอยในป่าดิบ มีขนปีกมีสีม่วงหรือสีเขียวสวยเนียนดั่งกับผ้าแพร
บางชนิดมีแต้มหรือแถบของชุดขนที่คล้ายคลึงภาชนะหรือวัตถุที่คุ้นตาของคนเรา เลยถูกเรียกให้งงเล่น เช่น นกอุ้มบาตร ต่อให้เป็นบาตรสำหรับเณรก็คงไม่เบาพอจะให้นกตัวเล็กๆ เช่นนี้ "อุ้ม" ได้หรอก
"หากแถบสีดำบนอก รูปร่างคล้ายบาตรพระ ทำให้นกต้อง "อุ้ม" บาตรไปชั่วชีวิต"
บางชื่อบ่งบอกพฤติกรรมของนกอันแตกต่างและเป็นเอกลักษณ์เฉพาะกลุ่ม เช่น "นกไต่ไม้" มักไต่ตามเปลือกไม้ของลำต้นไม้ใหญ่อย่างคล่องแคล่วว่องไว "นกมุ่นรก" ไม่ได้หมกมุ่นกับอะไรอื่นนอกจากป่าอันรกชัฎ เพราะถิ่นอาศัยที่สำคัญของนกกลุ่มนี้ตามประสานกป่าและนกดอย
"นกหัวขวาน" ชอบเจาะ เคาะต้นไม้ด้วยจะงอยปากหนาและตรงปานสิ่ว แล้วโขกหัวลงไปเสมือนสับขวาน เพื่อค้นคุ้ยหาตัวหนอนที่แอบซ่อนอยู่ใต้เปลือกไม้
"นกอีเสือ" ดุร้ายไม่แพ้นกนักล่า เช่น เหยี่ยวหรือนกอินทรี แม้จะเป็นนกตัวเล็กและไม่มีกรงเล็บอันคมกริบ หากล่าสัตว์อื่น อาทิ กิ้งก่า กบหรือแมลงอย่างดุดันอำมหิตไม่แพ้กัน หรือพฤติกรรมน่าเวียนหัวของนกชายเลนชนิดหนึ่ง ชอบว่ายบนน้ำทะเลหรือน้ำกร่อยในนาเกลือ ว่ายวนเป็นวงกลมน่าเวียนหัว เพื่อไล่บรรดาแมลงบนผิวน้ำหรือใต้น้ำให้แตกตื่น จะได้มองเห็นและจิกกินได้ง่าย จึงถูกขนานนามว่า "นกลอยทะเล"
บางชื่อได้สดับแล้วอาจชวนให้จั๊กจี้หรือหูกระดิกเพราะสองแง่สามง่าม ตามประสาอารมณ์ชวนขันของคนรุ่นก่อน เช่น นกเด้าลม หรือนกเด้าดิน เพราะนกพวกนี้ยามเดินหาอาหารบนพื้นดินมักจะกระดกก้นและหางขึ้นลง หรือส่ายหางไปมาซ้ายทีขวาที แล้วจะมีคำไทยโดดๆ คำไหนเหมาะกว่าคำว่า "เด้า" ล่ะครับ สั้น กระชับและได้ใจความ!
หรือนกตัวเล็กๆ ยาวไม่เกินสามข้อนิ้วมือ ในป่าดิบบนดอยสูง ชั่วชีวิตอาจจะเดินและวิ่งมากกว่าบิน มักมุดหลบซ่อนตัวในพงไม้รกชัฎ ที่เรียกกันว่า "นกจู๋เต้น" หรือ "นกจุนจู๋" ก็นกพวกนี้อยู่อาศัยในที่แน่นทึบ ปีกว่าสั้นแล้ว หางยิ่งสั้นจุ๊ดจู๋ ตัวก็เล็กปานนั้น แต่เสียงดังลั่นปานกระดิ่ง
"หากนักดูนกได้เห็นก็ "เต้น" ด้วยความตื่นเต้นตามประสาเหมือนกันเพราะใช่ว่าจะได้เห็นตัวกันง่ายๆ .. ฮา"
หน้า 21
| http://www.matichon.co.th/matichon/view_news.php?newsid=01sun03170552§ionid=0120&day=2009-05-17 | | |
Windows Live™: Keep your life in sync.
Check it out.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น