บ.ซีแคนูไทยแลนด์ จำกัด บ้าน ร๊อคการ์เด้นท์ 125/461 บ้านทุ่งคา - บ้านสะปำ ต. รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 โทรศัพท์ 076 528839 - 40 โทรสาร 076 258841 อีเมล์: info@seacanoe.net เว็บไซต์ http://www.seacanoe.net/ Please visit my blog.Thank you so much. http://www.sanamluang.bloggang.com / http://tham-manamai.blogspot.com / http://www.parent-youth.net/ http://www.tzuchithailand.org/ http://www.pdc.go.th/ http://www.presscouncil.or.th / http://thainetizen.org/ http://www.ictforall.org

"เชิญชวนทุกท่านร่วมสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน"

ฉันไม่ชอบกฎหมาย
Bookmark and Share
Blognone

วันเสาร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

อองเธอเพอนัวร์แห่งอัมพวา บูมอัมพวาไม่ได้มาฟรีๆ มาดูเทคโนโลยี-วิชาการที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย

วันที่ 28 พฤษภาคม 2552 00:01

อองเธอเพอนัวร์แห่งอัมพวา

ภาพประกอบข่าว
บูมอัมพวาไม่ได้มาฟรีๆ มาดูเทคโนโลยี-วิชาการที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ทันสมัย โดนใจตลาดนักท่องเที่ยว
 
อัมพวาวันธรรมดาออกจะดูเงียบเหงา เซื่องซึมเหมือนบ้านริมคลองทั่วไป ต่างจากวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ที่นักท่องเที่ยวต้องไหลไปตามคลื่นคนที่เบียดทะนานกันมาชม และชิมลิ้มรสชาติตลาดเก่า บางทีคุณอาจจะอยากรู้ว่า ก่อนเปิดวิกแสดงตลาดน้ำอัมพวา พ่อค้าและแม่ค้าเขาทำอะไรกัน

ก่อนปี 2547 อัมพวา ไม่ต่างจากหมู่บ้านชายคลองเงียบๆ ตกค่ำก็มีแต่หิ่งห้อยที่ส่องแสงกันคึกคัก ส่วนชาวบ้านร้านถิ่นพากันปิดประตูเปิดทีวีดูละครดูข่าวก่อนเข้านอน

"เรือหายไป คนในพื้นที่ก็หายไปกว่าครึ่ง เทศบาลจึงได้เริ่มรื้อฟื้นเศรษฐกิจระดับชุมชน มองจุดขายด้านการท่องเที่ยวให้อัมพวาเป็นที่รู้จัก โดยเปิดตลาดน้ำยามเย็น เพื่อชุบชีวิตชุมชนสองฝั่งคลองขึ้นมาอีกที" ร้อยโทพัชโรดม อุนสุวรรณ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลอัมพวา เล่าความหลัง

ภาพของตลาดอัมพวาในยุคบุกเบิก ปี 2547 ออกมาในรูปของชาวบ้าน 200 กว่ารายนำสินค้าแปรรูปที่ผลิตได้จากครัวเรือนออกมาขาย 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นคนในพื้นที่ อาชีพเดิมทำสวนผลไม้ รายได้จากผลหมากรากไม้พายเรือมาขายที่ตลาดน้ำเป็นทุนรอนเสริมให้กับครอบครัว

เพียงไม่นาน อัมพวา ตลาดน้ำตามแบบฉบับตลาดน้ำดำเนินสะดวกถูกบอกกล่าวกันปากต่อปาก แทบจะไม่มีรายการทีวีวาไรตี้รายการไหนไม่เคยมาถ่ายทำสารคดี เหมือนยิ่งตียิ่งดัง วันเสาร์-อาทิตย์ คนแห่ขับรถมาเที่ยวกันตั้งแต่เช้าเดินกันให้ขวักไขว่ หรือพูดให้ถูกก็คือ แทบจะไหลไปตามกระแสคลื่นมนุษย์ และสนุกกับการซื้อหาของกินกัน 'ไม่ขาดปาก' จริงๆ

ภาพตลาดน้ำอัมพวาต่างจากวันก่อน ไม่ได้มีแค่ผลไม้จากสวน แต่ยังมีอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานกันริมท่าน้ำ และห่อกลับบ้านจนเกิด 'อองเธอเพอนัวร์ชาวบ้าน' และสร้างอาชีพใหม่ให้กับหลายครอบครัว

ป้าสำเนียง ดีสวาสดิ์ เจ้าของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำดอกไม้ ตราสำเนียง เป็นหนึ่งในเจ้าของกิจการที่เริ่มต้นเปิดหน้าร้านขายน้ำดื่มบรรจุขวดที่ตลาดอัมพวาตามคำชวนของนายกเทศบาล เธอจับธุรกิจขายน้ำลูกสำรองที่เธอถนัด ด้วยความเป็นคนช่างคิด ช่างทดลอง สูตรผสมน้ำลูกสำรองของเธอจึงมีรสชาติอร่อยไม่เหมือนใคร

งานวิจัยจากอาจารย์ราชภัฏบ้านสมเด็จพบว่าดอกไม้ในท้องถิ่น 5 ชนิด สามารถต้านอนุมูลอิสระ ดีกว่าชาเขียวญี่ปุ่นหลายเท่าตัว จุดประกายให้ป้าสำเนียงต่อยอดผลิตเป็นน้ำดอกไม้เพิ่มเติมจากน้ำลูกสำรอง

สุดท้ายลูกสำรองของป้าเป็นอันต้องหลีกทางให้กับน้ำดอกไม้ ภายใต้แบรนด์เดียวกันที่ใครไปใครมาอัมพวาต้องขอแวะชิม จนทำกำไรเป็นกอบเป็นกำจากธุรกิจขายน้ำดอกไม้ในราคาเพียงขวดละ 10 บาท

“อากาศร้อน นักท่องเที่ยวมองหาน้ำดื่ม และยิ่งเป็นน้ำเพื่อสุขภาพ หวานแต่ทานแล้วไม่อ้วน ยิ่งขายดี ทำให้ขายดี" แม่ค้าชาวบ้านผู้หาญกล้าท้าแข่งกับน้ำอัดลม ภูมิใจ

ผลวิจัยบอกว่าน้ำดอกไม้ เช่น ดอกเข็มแดง ดอกอัญชัน ดอกบัว ดอกกุหลาบ และดาหลา มีฤทธิ์ต้านโรคหัวใจ พาร์กินสัน และต้านโรคมะเร็ง และถ้าดื่มเป็นประจำจะไม่มีสารก่อมะเร็งตกค้าง ป้าสำเนียงจึงเอามาต่อยอดด้วยหัวคิดตัวเองจนกลายเป็นค็อกเทลน้ำดอกไม้นานาพรรณ

“ตอนแรกไม่คิดว่าดาหลาจะเอามาทำเป็นน้ำพันซ์ได้ เขาเป็นพืชที่มีความเผ็ดฉุนรุนแรง แต่พอนำมาปรับปรุงสูตรแล้ว น้ำดาหลาบรรจุขวดที่ได้กลับมารสชาติอร่อย ใครดื่มก็ติดใจ”

ด้วยความแปลกใหม่ทำให้น้ำดอกไม้ได้รับความสนใจ จนผลิตแทบไม่ทัน และเมื่อผลิตในปริมาณมากปัญหาที่ตามมาก็คือ จะทำอย่างไรให้ได้น้ำผลไม้ที่มีคุณภาพ เก็บไว้ได้นาน คงรสชาติและระดับความหวานคงที่ เรื่องนี้จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย

“น้ำดอกไม้เก็บได้ไม่นานหรอก ต้องทำไปขายไป ตอนแรกเราไม่รู้ว่าการทำพาสเจอร์ไรซ์คืออะไร แต่เมื่อเรียนรู้เทคโนโลยีเพียงเล็กน้อย ก็สามารถทำได้เอง โดยปรับปรุงการผลิตเพียงเล็กน้อย เก็บน้ำดอกไม้ได้นานขึ้น 7วัน เรายังมีเครื่องวัดความหวานด้วยนะ รสชาติก็แม่นยำขึ้นถ้าไม่มีงานวิจัย ก็ไม่กล้าทำ”

ป้าสำเนียงคนสวยบอกอย่างมั่นใจว่า ถ้ามีงานวิจัยยืนยันถึงประโยชน์ของดอกไม้ชนิดอื่น ก็พร้อมที่จะนำไปปรับปรุงสูตรผลิตเป็นน้ำดอกไม้หลากชนิด จำหน่ายอย่างแน่นอน สำหรับอนาคตของน้ำดอกไม้ภายใต้แบรนด์สำเนียง กำลังอยู่ระหว่างขอตราจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) รับรองคุณภาพ เพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภคมากขึ้น

ซีเรียลถอยไป ข้าวแต๋นมาแล้ว

จาก ดาหลา ไม้ดอกที่ปลูกขึ้นตามร่องสวนอัมพวา ดอกไม้ที่เคยมีค่าเพียงเครื่องมือป้องกันตลิ่งพัง ตอนนี้กลายเป็นดอกไม้เศรษฐกิจที่มีราคาค่างวดมากขึ้นเป็นเท่าตัว ไม่ต่างจากข้าวแต๋น ซุปเปอร์คาราเมล ของฝากยอดนิยมของนักท่องเที่ยวตลาดน้ำอัมพวา

“ข้าวแต๋น หรือขนมนางเล็ด เป็นของฝากที่หาได้ทั่วไปแต่ถ้าจะขายได้ ต้องมีความแตกต่าง” ศุภชาติ เจียมศิวานนท์ หรือ ลุงแว่น เล่าพร้อมหักข้าวแต๋นหน้าธัญพืชเข้าปาก

ข้าวแต๋น หน้าธัญพืช เป็นหนึ่งในข้าวแต๋น ทั้ง 8 รสชาติ ที่คิดค้นโดยลุงแว่น อดีตนักบัญชีธนาคาร ที่ผันตัวมาเปิดธุรกิจเล็กๆ ที่บ้านเกิด

ลุงแว่น เน้นขายข้าวแต๋น ด้วยลีลาการเชื้อเชิญลูกค้าใช้ลองชิมข้าวแต๋นสารพัดเครื่องโรยหน้า ทั้งธัญพืช เม็ดแตง ถั่ว งา หมูหยอง ปลาหมึกกรอบ แถมยังย้ำว่าข้าวแต๋นของแท้ของลุงแว่นต้อง “เอ็กซ์ตร้าคาราเมล น้ำตาลเต็มแผ่น แน่นปั๊ก หวานพิเศษ”

ลุงแว่น บอกว่า กว่าจะได้เป็นข้าวแต๋นที่ขายดีอย่างวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องเลือกวัตถุดิบอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นข้าวจะต้องเลือกที่ทอดแล้วไม่อมน้ำมัน น้ำตาลมะพร้าวที่นำมาใช้ทำคาราเมลโรยหน้า จะต้องเป็นน้ำตาลเหนียวหวาน

จุดเด่นที่ทำให้ข้าวแต๋นของลุงแว่นไม่เหมือนใครคือใช้น้ำตาลมะพร้าว ทำคาราเมลโรยหน้า แทนน้ำตาลอ้อย  ทอดด้วยข้าวเหนียวพันธุ์ กข 6 ที่ได้รับการยืนยันจากนักวิจัยแล้วว่า ไม่อมน้ำมันเวลาทอด ช่วยให้เก็บรักษาได้นานกว่า 2 อาทิตย์ ทำให้ข้าวแต๋น ซุปเปอร์คาราเมล ของลุงแว่นในวันนี้ รสชาติเลื่องชื่อจนกลายเป็นแบรนด์อันดับต้นๆ ที่นักท่องเที่ยวถามหา 

“ได้อาจารย์จากศิลปากรมาให้คำปรึกษา เลือกวัตถุดิบ และพัฒนากระบวนการผลิตข้าวแต๋น จากเดิมที่อาศัยประสบการณ์เป็นหลัก ตอนนี้สามารถผลิตข้าวแต๋นที่เก็บไว้ได้นาน สามารถผลิตได้ในปริมาณมาก รายได้กว่า 1 หมื่นบาทต่อวัน”

อย่างไรก็ตามลุงแว่นยังคงมองหางานวิจัยที่จะเข้ามาช่วยลบจุดอ่อนที่มีอยู่ให้หมดไป โดยโจทย์ที่เขาสนใจคือทำอย่างไรให้เวลาทอดไม่มีควันน้ำมันไปรบกวนเพื่อนบ้านซึ่งอยู่ระหว่างปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ ลุงมองว่าการสร้างงานจากข้าวแต๋นของเขาจะต้องไม่รบกวนชุมชน

“เทคโนโลยีบางอย่างไม่ได้ซ้ำซ้อน เพียงแต่รู้จักหยิบมาใช้ สร้างความแข็งแกร่งให้กับชุมชน เมื่อชาวบ้านมีความรู้ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้อย่างเข้มแข็ง ก็จะสามารถแข่งขันกับร้านสะดวกซื้อได้” นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลอัมพวา เสริม 

ร้อยโทพัชโรดมอยากเห็นภาพอัมพวาเป็นโมเดลตัวอย่างของการทำงานในระดับรากหญ้า ผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน เป็นที่ยอมรับ โดยไม่จำกัดว่าเป็นอาหารพื้นบ้านทั่วไป ถ้าหากลองใส่ไอเดียลงไป เมนูบ้านๆ แค่ไหน ก็เจ๋งได้ 

รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา ผู้อำนวยการโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (ITAP) พูดถึงหนึ่งในภารกิจสำคัญของหน่วยงานคือ การยกระดับอุตสาหกรรมไทย ตั้งแต่เอสเอ็มอียันอุตสาหกรรมไฮเทค 

“นี่เป็นครั้งแรกที่เริ่มทำงานร่วมกับชุมชน หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจทั่วโลกที่ส่งผลกระทบถึงกับต้องปิดบริษัท พนักงานออฟฟิศมีแนวโน้มย้ายถิ่นฐานจากเมืองกลับสู่ชุมชนมากขึ้น อัมพวาเป็นหนึ่งในโครงการที่เรามองว่ามีความเป็นไปได้ในหลายด้าน โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีเข้าไปจับ เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชน”

วิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับการเกษตรและประมง แต่จุดเด่นของอัมพวายังคงอยู่ โดยเฉพาะอาหารการกิน นอกเหนือจากภาพลักษณ์ที่ทำให้นักท่องเที่ยวรู้จักอัมพวา ไม่ว่าจะโฮมสเตย์ นั่งเรือชมหิ่งห้อย หรือแม้กระทั่งดอนหอยหลอดที่เคยเลื่องชื่อ

สินค้าอาหารยังคงแข่งขันได้ ในมุมมองของ ศ.ดร.ชัชนาถ เทพธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี)  ที่บอกว่า เทคโนโลยีสามารถช่วยเสริม ในส่วนของการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน อาหารปลอดภัย ผลิตสินค้าที่มีความหลากหลาย สร้างมูลค่าเพิ่ม และเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค 

"ไอเทปมีหน้าที่หาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจริง โดยดึงเอาความสามารถของนักวิชาการในมหาวิทยาลัยที่อยู่ในท้องถิ่น มาร่วมขบคิดวิธีการแก้ปัญหา"

สำหรับชุมชนอัมพวาได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และมหาวิทยาลัยศิลปากร ในจังหวัดนครปฐม

“งานวิจัยที่ลงไปสู่ชุมชนและเริ่มทำได้ทันทีจึงเน้นไปที่เทคโนโลยีที่ไม่มีความสลับซับซ้อน ทำได้ง่าย ไม่ต้องใช้เงินลงทุนสูง และที่สำคัญ เหมาะสมกับชุมชนมากที่สุด เช่น การพาสเจอร์ไรซ์ถนอมอาหาร รวมถึงปรับปรุงกระบวนการผลิตที่ควบคุมความสะอาดและปลอดภัยเป็นหลัก”

แต่ในมุมมองของนักวิจัย ตลาดน้ำอัมพวายังมีโจทย์อีกหลายข้อที่น่าสนใจ นอกเหนือจากการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น การพัฒนาเรือชมหิ่งห้อยให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน เรือมอเตอร์ไฟฟ้า ช่วยลดมลพิษทางเสียงและควันพิษ ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ แต่ต้องลงทุนสูง

ตบมือข้างเดียวไม่ดัง

มุมมองของผู้นำนวัตกรรมเข้าไปสู่ชุมชนมองว่าความร่วมมือจะประสบความสำเร็จได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของผู้ประกอบการในชุมชน ซึ่งเริ่มให้ความสนใจกับการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาธุรกิจมากขึ้น เช่น ทายาทรุ่นที่ 3 ของธุรกิจกาแฟโบราณ กว่า 60 ปี ภายใต้ชื่อ 'สมานการค้า' 

พลพิพัฒน์ สมานสิริกุล ผู้สืบทอดธุรกิจกาแฟโบราณคนปัจจุบัน บอกถึงความต้องการว่า หากเทคโนโลยีสามารถช่วยยกระดับกาแฟโบราณ ให้มีความทันสมัย สามารถผลิตเมล็ดกาแฟได้เป็นจำนวนมากโดยยังคงคุณภาพความสะอาดไว้ได้ ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจ

“เราต้องการผลิตเมล็ดกาแฟสดเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จากความต้องการของลูกค้ามีมากจนทำไม่ทัน หากมีเทคโนโลยี หรือเครื่องจักรที่จะสามารถเข้ามาทดแทนแรงงานคน ทำให้ขั้นตอนการผลิตได้มาตรฐาน สะอาด แต่แน่นอนการลงทุนเพิ่มก็เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ” 

นอกจากนี้ยังมีเจ้าของธุรกิจโฮมสเตย์ รีสอร์ท ที่สนใจทำธุรกิจอี-มาร์เก็ตติ้ง เปิดช่องทางการติดต่อกับรีสอร์ท และโฮมสเตย์ที่พักได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านทัวร์ โดยมองว่าช่องทางการทำตลาดผ่านเว็บไซต์ ใช้ต้นทุนต่ำ และไม่มีนายหน้ามาคอยหักค่าหัวคิว

ผู้บริหารศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยีเปรยว่า อีกไม่นานจะได้เห็นตลาดน้ำออนไลน์ ภายใต้ชื่อ อัมพวาดอทคอม ภายใต้การสนับสนุนของ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย หรือ ซอฟต์แวร์ พาร์ค ที่พร้อมจะเริ่มต้น ฝึกอบรมธุรกิจ อี-คอมเมิร์ส และมั่นใจว่าโมเดลการนำเทคโนโลยีลงสู่ชุมชนนี้จะสามารถขยับขยายไปยังสถานที่ท่องเที่ยว ในชุมชนอื่นๆ ต่อไป

เพราะฉะนั้น ไม่ต้องแปลกใจถ้าไปอัมพวาแล้วไม่เห็นร้านสะดวกซื้อ หรือเชนร้านไก่ทอดอเมริกัน พิซซ่า แฮมเบอร์เกอร์ และไอศกรีม ต่างจากแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่เมื่อได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวแล้ว บรรดาร้านค้ารายใหญ่จะเข้าไปจับจองแย่งชิงพื้นที่ค้าขายกับชาวบ้าน

“ตลาดน้ำเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ นักท่องเที่ยวเดินทางมากว่าปีละ 5 แสนคน ทำรายได้เพิ่มสูงขึ้นกว่า 100 ล้านบาทต่อปี หากกลไกเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนได้ ชาวบ้านสามารถสร้างมูลค่าจากสินค้าและที่พักได้มากกว่า ก็ไม่จำเป็นต้องเปิดช่องให้ธุรกิจสะดวกซื้อมาแย่งชาวบ้านกิน” นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลอัมพวา ยืนยัน

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ข่าวสาร ข้อมูล ทุกด้านต้องรับฟัง ไม่เชื่อสิ่งที่เห็น ฟังข่าวสารเพียงฝ่ายเดียว ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew ● ปรึกษาปัญหากฏหมาย ละเมิด,สัญญา,อายัดทรัพย์ ยึดทรัพย์ ปัญหาติดต่อราชการ ฟรี ● พิมพ์รายงาน,ค้นหาข้อมูล, ● งานพิมพ์ Lay-Out,Art Work สำนักพิมพ์ดาวหาง www.sanamluang.bloggang.com สนใจติดต่อสอบถาม workingmailhome@hotmail.com

รายการบล็อกของฉัน