บ.ซีแคนูไทยแลนด์ จำกัด บ้าน ร๊อคการ์เด้นท์ 125/461 บ้านทุ่งคา - บ้านสะปำ ต. รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต 83000 โทรศัพท์ 076 528839 - 40 โทรสาร 076 258841 อีเมล์: info@seacanoe.net เว็บไซต์ http://www.seacanoe.net/ Please visit my blog.Thank you so much. http://www.sanamluang.bloggang.com / http://tham-manamai.blogspot.com / http://www.parent-youth.net/ http://www.tzuchithailand.org/ http://www.pdc.go.th/ http://www.presscouncil.or.th / http://thainetizen.org/ http://www.ictforall.org

"เชิญชวนทุกท่านร่วมสร้างสรรค์กฎหมายเพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน"

ฉันไม่ชอบกฎหมาย
Bookmark and Share
Blognone

วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2552

การไม่เลือกปฏิบัติต่อแรงงาน (ตอน: 1) การไม่เลือกปฏิบัติคืออะไร และมีผลดีต่อนายจ้างอย่างไร

การไม่เลือกปฏิบัติต่อแรงงาน (ตอน: 1) การไม่เลือกปฏิบัติคืออะไร และมีผลดีต่อนายจ้างอย่างไร 

วิทยากร บุญเรือง

การปฏิบัติต่อพนักงานด้วยความเป็นธรรมเป็นสิ่งที่ดีงามด้วยตัวของมันเอง ในสถานประกอบการณ์นั้น การตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับการจ้างงานพึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของประสิทธิภาพในการทำงานโดยระบบคุณธรรม การปฏิบัติไม่เป็นธรรมเกิดขึ้นเมื่อการตัดสินใจไปอิงเกณฑ์ที่ไม่เกี่ยวกับประสิทธิภาพการทำงาน เช่น เชื้อชาติ ศาสนา เพศหญิงชาย หรือภูมิลำเนาเดิม

ในต้นศตวรรษที่ 21 มีพลังสำคัญที่นำไปสู่การปรับโครงสร้างองค์กรอยู่ 2 ประการคือ ประการแรก องค์กรเริ่มพบว่าหากต้องการจะประสบความสำเร็จในสภาพตลาดที่มีการแข่งขันสูงนั้น จะบริหารจัดการธุรกิจหรือราชการแบบเดิมนั้นไม่เพียงพอเสียแล้ว องค์กรจะต้องปรับตัวตอบสนองความต้องการของตลาดหรือสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องมีวิธีใหม่ในการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ บีบให้บริษัทต้องปรับตัวยืดหยุ่นในการจัดสรรและใช้ประโยชน์ทรัพยากรมนุษย์มากขึ้น เพื่อให้บริษัทสามารถกระจายกำลังคนไปทำงานในแผนกต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ทำงานร่วมกับแผนกอื่น องค์กรอื่นหรือจัดเป็นทีมงานในระดับชาติ รูปแบบการทำงานเช่นนี้สอดคล้องกับกระแสโลกาภิวัตน์ของตลาดและการผลิตในยุคใหม่ต้องอาศัยคนจากหลายๆภูมิหลังทำงานร่วมกัน

ขณะเดียวกันประชากรกำลังแรงงานก็เปลี่ยนแปลงไป ทำให้องค์กรต้องทบทวนความเชื่อและนโยบายที่เคยใช้ในอดีตเกี่ยวกับบุคลากรด้วย การที่องค์กรต้องการคนทำงานเป็นทีมมากขึ้นและประชากรกำลังแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นทำให้พนักงานในบริษัทมีความหลากหลายมากขึ้น (ทั้งในด้านสัดส่วนของหญิงชาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ศาสนา ภูมิลำเนาเดิม อายุ สภาพความพิการ (รวมทั้งการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ด้วย) และอื่นๆ) และต้องทำงานร่วมกันมากขึ้นแม้ว่าขณะนี้จะมีกฎหมายและสถานประกอบการด้วยกันดึงให้บริษัทต้องปฏิบัติกับพนักงานของตนให้เท่าเทียมกันมากขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ยังไม่มากเท่าที่ควร จำเป็นที่บริษัทต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมและแนวปฏิบัติในองค์กรเพื่อให้สอดคล้องรับนโยบายการจ้างงาน รักษาพนักงานและเลื่อนตำแหน่งมากขึ้น

การเลือกปฏิบัติรูปแบบต่างๆ ยังเป็นปัญหาแทบทุกแห่งในโลก โดยเฉพาะในการจ้างงานและเลือกอาชีพ "การเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและอาชีพ" หมายถึงวิธีใดก็ตามที่ทำให้คนบางคนต้องตกอยู่ในสภาพด้อยหรือเสียเปรียบในตลาดแรงงานหรือในสถานประกอบการเนื่องจากอคติเกี่ยวกับเพศ อายุ เชื้อชาติ สีผิว ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง ภูมิลำเนาเดิม สถานภาพเดิมทางสังคมหรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับงานที่ทำ

การเลือกปฏิบัติอาจเกิดขึ้นโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ได้ การตั้งใจเลือกปฏิบัติโดยตรงเช่นจงใจชี้ให้เห็นความแตกต่าง จงใจเลือกหรือไม่เลือกโดยอ้างเหตุผลนานา เช่น โฆษณาที่ระบุ "รับเฉพาะผู้ชาย" ก็ถือเป็นการจงใจเลือกปฏิบัติโดยตรง ส่วนการเลือกปฏิบัติโดยอ้อมหมายถึงมีสถานการณ์ มาตรการหรือแนวปฏิบัติที่ดูผิวเผินก็ดูเป็นกลางดี แต่มีผลในทางลบต่อบางคนหรือบางกลุ่ม การเลือกปฏิบัติโดยอ้อมนี้มักแฝงมา จึงยากที่จะจัดการ

การไม่เลือกปฏิบัติมีหลักการเบื้องต้นคือต้องปฏิบัติต่อคนทุกคนทัดเทียมกันไม่ว่าคนผู้นั้นจะเป็นคนอย่างไรมาจากไหนตราบใดที่สามารถทำงานให้กับองค์กรได้ การให้โอกาสและปฏิบัติต่อคนอย่างเสมอภาคทำให้คนสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มภาคภูมิ มีโอกาสหางานทำทัดเทียมผู้อื่นและมีสภาพทำงานดีทัดเทียมกัน

แต่การหยุดเลือกปฏิบัติเพียงอย่างเดียวย่อมไม่ทำให้การเลือกปฏิบัติหมดไปจากระบบการจ้างงานและอาชีพได้ จำเป็นต้องมีการส่งเสริมให้คนมีโอกาสเสมอภาคและปฏิบัติต่อคนทัดเทียมกันในสถานประกอบการในทุกระดับ ตั้งแต่การสรรหา การรักษาพนักงานให้อยู่กับบริษัท การเลื่อนตำแหน่งและการเลือกจ้างงาน การให้ค่าตอบแทน โอกาสการเข้ารับฝึกอบรมวิชาชีพและพัฒนาทักษะฝีมือ เนื่องจากโครงการรับพนักงานจากหลากหลายกลุ่มนี้ให้ความสำคัญต่อภูมิหลังของพนักงานที่แตกต่างกัน ต้องหาคนทำงานที่มีความรู้ความสามารถจากวัฒนธรรมต่างๆ และทุกกลุ่มประชากร จำทำให้ความเสมอภาคเป็นหัวใจของการบริหารทรัพยากรมนุษย์ นอกจากนั้น การจัดการพนักงานจากหลากหลายภูมิหลังโดยไม่เลือกปฏิบัตินั้นกำลังเป็นเครื่องมือการบริหารอย่างดีในการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพขององค์กรมากขึ้นทุกที

นโยบายจัดการกำลังแรงงานจากหลากหลายภูมิหลังก็เพื่อให้เกิดวัฒนธรรมที่ให้โอกาสพนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์การอย่างเต็มที่ตลอดจนมีโอกาสก้าวหน้าเลื่อนตำแหน่งตามผลงานความสามารถ ซึ่งทำให้องค์การและสภาพการทำงานดียิ่งขึ้น การจ้างงานสตรี ผู้มีอายุและชนกลุ่มน้อยเพียงประการเดียวยังไม่เป็นหลักประกันว่าการจัดการกำลังแรงงานหลากหลายจะประสบความสำเร็จได้ด้วยดี พนักงานจะอยู่ทำงานกับองค์การได้นานและทำงานได้อย่างเต็มกำลังนั้นขึ้นอยู่ว่าองค์การปฏิบัติต่อพนักงานอย่างไรด้วย รวมทั้งโอกาสความก้าวหน้า การฝึกอบรมและความพอใจในอาชีพงาน การที่บริษัทต้องการพัฒนาทักษะฝีมือพนักงาน ให้พนักงานซื่อสัตย์กับองค์การและมีสัมพันธ์อันดีที่เกื้อหนุนกันระหว่างพนักงานกับบริษัทนั้นจึงนับเป็นการลงทุนอย่างหนึ่ง แต่เป็นการลงทุนด้านบุคลากร

แม้จะเป็นที่ยอมรับกันว่าความเสมอภาคในสถานประกอบการมีส่วนทำให้บริษัทมีผลประการดีขึ้นแต่ก็ยังไม่มีการศึกษาและรวบรวมหลักฐานมากเพียงพอที่จะพิสูจน์ว่าการไม่เลือกปฏิบัติการจ้างงานทำให้ผลประกอบการของบริษัทดีขึ้นอย่างไร

ILO ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากและมีโครงการศึกษาวิจัยหลายโครงการ เป็นต้นว่ามีนโยบาย (ILO, 2000) เน้น "...ให้มีการศึกษาวิจัยตัวแปรแทรกซ้อนที่กำหนดความเชื่อมโยงระหว่าง...ความเสมอภาคกับผลประกอบการทางเศรษฐกิจ"   ผลจากงานวิจัยในเบื้องต้นในปี 2000 แสดงผลของการจ้างงานที่ไม่มีการเลือกปฏิบัติว่ามีผลต่อผลิตภาพและผลประกอบการของบริษัทดังนี้

• การให้โอกาสเสมอภาคทำให้ผลิตภาพสูงขึ้น

• บริษัทที่มีพนักงานที่เคยเป็นผู้ถูกเลือกปฏิบัติเป็นพนักงานกลุ่มใหญ่ การให้โอกาสเสมอภาคทำให้ผลิตภาพของบริษัทสูงขึ้น

• บริษัทที่มีนโยบายให้ความเสมอภาคอย่างจริงจังมีผลดีต่อผลิตภาพของบริษัท     

โดยผลงานวิจัยนี้บ่งว่านโยบายไม่เลือกปฏิบัติและสามารถทำได้จริงมีผลต่อศักยภาพองค์การหลายประการ คือ

• การจัดกำลังงานลงสู่ตำแหน่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นการเพิ่มคุณภาพของทุนมนุษย์และขวัญกำลังใจผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์การอีกโสตหนึ่ง

• จัดคนลงกับงานได้อย่างเหมาะสม การเลือกคนลงตำแหน่งงานมีเกณฑ์ที่เป็นกลางและเป็นระบบมากขึ้น

• สมาชิกของกลุ่มที่เคยถูกเลือกปฏิบัติมีกำลังทำงานมากขึ้นเพราะ

                        - มีโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงานมากขึ้น

                        - พนักงานมีความรู้สึกว่าบริษัทมีความยุติธรรม

                        - ได้งานที่มีความหมายมากขึ้นและมีโอกาสแสดงความคิดสร้างสรรค์

• พนักงานลาออกน้อยลง (โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยถูกเลือกปฏิบัติ)

• บรรยากาศและสภาพแวดล้อมการทำงานเครียดน้อยลง ทำให้พนักงานมีสุขภาพดีขึ้น มีขวัญและกำลังใจและรู้สึกภาคภูมิใจในตนเอง

มีหลักฐานชี้บ่งชัดเจนว่าเมื่อบริษัทมีนโยบายโอกาสการจ้างงานอย่างเสมอภาค (equal employment opportunity: EEO) ร่วมกับการให้พนักงานมีส่วนร่วมมากขึ้น ผลิตภาพของบริษัทจะสูงขึ้นอีกด้วย

           

ที่มาเรียบเรียงจาก:
Coporates Success Through People: Making International Labours Standards Work For You (Nikolai Rogovsky And Emily Sims, ILO, 2002)

 

รายงานที่เกี่ยวข้อง:
การเลิกจ้างแรงงานที่เป็นธรรมในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ (ตอน: 1) กรณีศึกษาบริษัท Levi Strauss  (ประชาไท 26/3/2552)
การเลิกจ้างแรงงานที่เป็นธรรมในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ (ตอน: 2) "แผนการโนอาห์" สร้างแรงงานสู่ผู้ประกอบการ  (ประชาไท 28/3/2552)
การเลิกจ้างแรงงานที่เป็นธรรมในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ (ตอน: 3) ดูพวกเขากระทำกับแรงงาน เมื่อธุรกิจ dotcom ล่มสลาย (ประชาไท 1/4/2552)
การเลิกจ้างแรงงานที่เป็นธรรมในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ (ตอน: 4) มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศกับการเลิกจ้างงาน (ประชาไท 4/4/2552)




http://www.prachatai.com/05web/th/home/16620
โดย : ประชาไท   วันที่ : 26/4/2552


Windows Live™ SkyDrive™: Get 25 GB of free online storage. Check it out.

กอร์ปศักดิ์ ดึงธุรกิจท่องเที่ยวส่งพนักงานร่วมต้นกล้าอาชีพ หวังช่วยประคองธุรกิจ จ่ายเงินเดือนพนักงาน

ชวนท่องเที่ยว เข้าโครงการต้นกล้าอาชีพ

วันจันทร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2552
 
กอร์ปศักดิ์ ดึงธุรกิจท่องเที่ยวส่งพนักงานร่วมต้นกล้าอาชีพ หวังช่วยประคองธุรกิจ จ่ายเงินเดือนพนักงาน

กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ
นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้ปรับโครงการต้นกล้าอาชีพให้ช่วยการชะลอการเลิกจ้างด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างหารือกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งหมดว่า หากบริษัทใดไม่เลิกจ้างพนักงานใน 1 ปี สามารถเข้ามาร่วมโครงการได้ รัฐบาลจะออกเงินค่าฝึกอบรมให้ โดยมีงบประมาณในโครงการต้นกล้าอาชีพมากถึง 5 แสนคน "ถ้าบอกว่าอยากส่งมาอบรม 3 หมื่นคน ก็เอาไปเลย จ่ายรายหัวเท่าเดิมที่ 4,800 บาทต่อเดือน เหมือนเราไปช่วยผู้ประกอบการจ่ายเงินเดือนให้พนักงาน 3 วัน เขาจ่ายเอง 2 วัน แต่ 2 วันนั้นไม่ต้องให้พนักงานทำงาน แต่ให้เข้ามาฝึกอบรมกับรัฐบาล โดยต้องทำข้อตกลงกับเราว่าจะไม่มีการปลดคนงานภายใน 1 ปี เป็นการชะลอไม่ให้เลือดไหล" นายกอร์ปศักดิ์ กล่าว

นอกจากนี้ จะใช้โครงการต้นกล้าอาชีพไปช่วยหน่วยงานราชการที่วันนี้มีปัญหามาก เช่น กระทรวงเกษตรฯ มีปัญหาเรื่องการจัดทำทะเบียนเกษตรกร เช่น เรื่องข้าวโพดมีการสวมสิทธิตลอด จึงบอกกระทรวงเกษตรฯ ว่า ต้องการคนเท่าไร จะส่งผู้ผ่านการอบรมโครงการต้นกล้าฯ ที่ฝึกวิธีการขึ้นทะเบียนเกษตรกรได้แล้วไปให้ทำงานได้เลย เท่ากับเป็นการใช้เงินงบประมาณได้อย่างมีประโยชน์

ทั้งนี้ หากไปฝึกอบรมอย่างเดียวเกรงว่าจะเกิดความสูญเปล่า เพราะฝึกมาแล้วก็ไม่มีงานทำ แบบนี้ถ้าส่งให้ไปทำงานแล้วหน่วยงานราชการต้องการคนก็รับสมัครเป็นพนักงานได้ทันที

นายกอร์ปศักดิ์ กล่าวว่า ในเดือน พ.ค.นี้ จะส่งผู้เข้าอบรมที่ฝึกเสร็จ 1.4 หมื่นคน เข้าไปฝึกงานที่กระทรวงศึกษาธิการ ถ้าผ่านไปได้จะได้งานเป็นพนักงานราชการเลยทั้ง 1.4 หมื่นตำแหน่ง ได้เงินเดือน 8,000 บาท
 
http://www.posttoday.com/news.php?id=44349



Rediscover Hotmail®: Now available on your iPhone or BlackBerry Check it out.

กาดมั่ว ยามเช้าเชียงตุง

กาดมั่ว ยามเช้าเชียงตุง
ข่าววันที่ 11 เมษายน 2552 แหล่งข่าวจาก สยามรัฐ

สัญจร

เนติ โชติช่วงนิธิ

 

กาดมั่ว ยามเช้าเชียงตุง

 

            ปลายเดือนมีนาคม-ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ผมเร้นกายไปกินนอนในเชียงตุงเขตพม่า 2 คืน 3 วัน อย่างสำราญใจ เหมือนอยู่คนละโลกกับเมืองเชียงใหม่ เชียงราย และแม้แต่เมืองหลวงกรุงเทพฯ ชีวิตที่วุ่นวายไม่รู้จบ ไม่รู้จักคำว่าพอเพียงหรือเพียงพอเหมือนชีวิตผู้คนในเชียงตุง

            เชียงตุง แม้อยู่ในช่วงฤดูร้อน แต่ก็ทำเอาร่างกายผมหนาวสั่นสะท้าน ด้วยอุณหภูมิ15-16 องศา เนื่อง จากฝนตกหนัก ความกดดันอากาศร้อนปะทะเย็น จนลูกเห็บเม็ดเล็กๆ สีขาวล่วงพราวจากท้องฟ้าส่งผลให้อากาศในหุบเขาของเมืองเชียงตุงหนาวจับจิตจับใจ

            คนท้องถิ่นบอก ฝนไม่ตกมาร่วมสี่เดือน เพิ่งจะมีนี่แหละที่ชาวเชียงตุงได้รับน้ำฝนชโลมใจจากฟากฟ้าก่อนสงกรานต์มาถึง

            เชียงตุง ห่างจากชายแดนไทยด้านอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และท่าขี้เหล็กของพม่า ระยะทาง 160 กว่ากิโลเมตร คนท้องถิ่นในเชียงตุงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไท ชาวไทเขิน(ขึน) และมีชนเผ่าต่างๆ ในพื้นที่สูง อาทิ แอ่น อาข่า ปะดอง รวมคนพม่าที่อยู่ในพื้นที่และจากเขตอื่นเข้ามารับจ้างขายแรงงาน รวมไปถึงคนอินเดียเข้ามาขายโรตีขายถั่ว  

            ชาวไทเขินในเชียงตุง มีสังคมวัฒนธรรมสายสัมพันธ์กับชาวล้านนาเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง มาช้านาน ทั้งในเรื่องศิลปะการแสดง เช่น ฟ้อนเทียน ฯลฯ เทศกาลประเพณีงานบุญ อย่างเช่นสงกรานต์ และที่เห็นได้ชัดเรื่องของภาษา "อู้" คำเมืองละม้ายคล้ายกัน มีตัวอักษรฝักขามกับอักษรธรรมใช้สื่อการเขียนถึงกันและกัน นอกเหนือจากตัวอักษรไทยกรุงเทพฯ มีสื่อให้เห็น

            เสียดาย ที่ผมเดินทางไปเชียงตุงก่อนที่เทศกาลสงกรานต์จะมาถึง คนท้องถิ่นและไกด์บอกว่า "ทุกถนน ตรอก ซอย และรอบหนองตุง คร่าคร่ำไปด้วยคนท้องถิ่นออกมาเล่นน้ำสงกรานต์แบบพื้นบ้านกันอย่างสนุกสนาน" ผมเองก็อยากเห็นภาพเล่นน้ำสงกรานต์เช่นกัน หากมีโอกาสจะไปสัมผัสให้ได้ ยอมเป็นคนเถื่อนไร้สัญชาติสัก 34 วัน เนื่องจากทางการพม่ายึดบัตรประชาชนไว้ (ฮา)  

            เราจะพบเห็นวิถีชีวิตที่สงบงามในเชียงตุงได้ ที่นอกเหนือจากชายคาในบ้านเรือนแล้ว คือวัดเก่าและใหม่เกือบ 50 วัด ศูนย์รวมสังคมวัฒนธรรมของชาวไทเขิน แต่ถ้าใครอยากเห็นหลากสีสันของวิถีชีวิตก็ต้องไปสัมผัส "กาดมั่ว" ตลาดสดยามเช้าแห่งเดียวใจกลางเมือง

            กาดมั่วเชียงตุง กลิ่นอายของชีวิตจริงที่เต็มไปด้วยสีสันของผู้คนหลากหลายสถานะ ใครใคร่ค้า ค้า ใครใคร่ขาย ขาย ใครใคร่ซื้อ ซื้อ ผมเองก็เป็นพระยาน้อยชมตลาด เข้าตรอกนี้ ทะลุซอยนั้น โผล่ซอกนี้ เพลินไปกับการถ่ายภาพ เก็บมาเป็นกำนัลให้กับท่านผู้อ่าน ดูกันเพลินๆ เผื่อท่านเกิดอาการกระสันอยากไปเที่ยวชมวิถีชีวิตของเมืองเชียงตุง

            กาดมั่วเชียงตุง ศูนย์กลางการค้าขาย แลกเปลี่ยนสินค้านานาชนิด ร้านรวงมีทุกประเภท ตั้งแต่ร้านเครื่องทอง ร้านซีดีเพลงไทเขิน-ไทใหญ่ รวมไปถึงไทยใต้อย่างเราๆ มีหมด สินค้าไทยนั้นเพียบ ส่วนอาหารพื้นบ้านนั้นไม่ต่างจากทางภาคเหนือบ้านเรานัก

คนในเมืองและชนเผ่าต่างๆ จะมาจับจ่ายใช้สอยเลือกซื้อกับข้าวกับปลาอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือนสารพัดชนิดกันตั้งแต่เช้ามืด จะเริ่มคึกคักมาก 7 โมงเช้าเรื่อยไปถึงเที่ยง จากนั้นก็จะสร่างลง

กาดมั่วเชียงตุง เสน่ห์วิถีชีวิตยามเช้า

 
  รูปประกอบข่าว
http://www.siamrath.co.th/UIFont/NewsDetail.aspx?cid=70&nid=36021


Rediscover Hotmail®: Get quick friend updates right in your inbox. Check it out.

สยาม ร.4 ศึกเชียงตุง / ภูมิบ้านภูมิเมือง

สยาม ร.4 ศึกเชียงตุง / ภูมิบ้านภูมิเมือง
ข่าววันที่ 16 เมษายน 2552 แหล่งข่าวจาก สยามรัฐ

ภูมิบ้านภูมิเมือง

บูรพา โชติช่วง

 

สยาม ร.4 ศึกเชียงตุง

               

ยังปรากฏให้เห็นเด่นชัดของร่องรอยคูเมืองนครเชียงตุงดินแดนพม่า มีกำแพงดินธรรมชาติสูงชันอันเป็นป้อมปราการชั้นดีในการป้องกันข้าศึกรอบด้านที่จะบุกเข้าตีเมือง

ระหว่างคูกำแพงจากฝั่งด้านนอกของกำแพงเพื่อข้ามมาฝั่งกำแพง โดยมีสะพานแขวนเก่าๆ โอนเอนจะโค่นมิโค่นแหล ตัวเสารับน้ำหนักก่อด้วยปูน เหล็กเส้นติดสนิมเกี่ยวคล้องกับเชือกเพื่อรับน้ำหนักไม้แผ่นที่พาดขนานกันไปทอดเป็นสะพาน เมื่อนับความกว้างของสะพานที่ก้าวเท้าไปแต่ละก้าวจุดสุดปลายฟากหนึ่ง 39 ก้าว ถ้าคิดเป็นเมตรก็น่าจะอยู่ราวๆ 35 เมตร บวกลบ 2 เมตร ส่วนความสูงของกำแพงดินนั้นประมาณด้วยสายตาแล้ว 15 เมตรเป็นอย่างต่ำ

นักวิชาการประวัติศาสตร์ที่ร่วมเดินทางมากับคณะสัมมนาวิชาการตามพระนิพนธ์ "จดหมายเหตุกองทัพเชียงตุง" พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม ร.ศ. สมโชติ อ๋องสกุล คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ลงความเห็นว่า "กำแพงนครเชียงตุงสูงกว่านครเชียงแสนเกือบ 3 เท่า และกำแพงนี้เป็นเพียงชั้นในเท่านั้น ส่วนตรงข้ามของกำแพงเป็นเนินเขาสูงลาดชัน ไกลออกไปนอกเมืองมีดอยเหมยตั้งตระหง่านเป็นกำแพงภูเขาโดยธรรมชาติ"

ร.ศ.สมโชติ กล่าวภาพรวมกำแพงนครเชียงตุง "นับได้ว่ามีถึง 3 ชั้นด้วยกัน นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่กอง ทัพสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 จะเข้ายึดนครเชียงตุงถึง 3 ครั้งนั้นไม่ประสบความสำเร็จ กระทั่งศึกเชียงตุงครั้งที่ 4 ไทยเข้ายึดได้สำเร็จ (พ.ศ.2485) แต่ภายหลังได้มอบนครเชียงตุงให้สหประชาชาติเข้ามาจัดการปกครอง"

นักประวัติศาสตร์อีกท่านหนึ่ง ร.ศ. ดร.รัตนาพร เศรษฐกุล คณะสังคมศาสตร์มนุษยศาสตร์ มหา วิทยาลัยพายัพ เปิดปูมหลัง "ศึกเชียงตุง : การเปิดแนวรบเหนือสุดแดนสยาม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4" กล่าวว่า "ศึกเชียงตุงครั้งแรกเกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2392 2393 ในสมัยรัชกาลที่ 3 และได้กลายเป็นภารกิจที่สืบต่อมาถึงรัชกาลที่ 4 สยามได้ส่งกองทัพขนาดใหญ่พรั่งพร้อมด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัยเวลานั้นโจมตีเชียงตุง ในพ.ศ.2395 แต่ไม่สำเร็จ ในพ.ศ.2396-2397 ส่งกอง ทัพขนาดใหญ่กว่าเดิมเข้าตี แต่ก็ต้องถอยทัพกลับมาเช่นกัน"

นักประวัติศาสตร์กล่าวถึงเอกสารราชการสยามระบุว่า "เป็นความพยายามของสยามในการป้องกันอันตรายจากพม่าที่จะขยายเข้ามาสู่เชียงราย พรมแดนทางเหนือของล้านนาติดต่อกับเชียงตุง และเกิดจากการที่เจ้านายเมืองเชียงรุ่งขอความช่วยเหลือจากสยามให้เข้าแทรกแซงการเมืองภายในของสิบสองปันนา ดังนั้นรัช กาลที่ 4 ทรงสานต่อการศึกเชียงตุง ทั้งเพื่อรักษาพระเกียรติของพระองค์"

            ถึงอย่างนั้นก็มีสาเหตุอื่นที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง ด้านหนึ่งการทำศึกเชียงตุงเป็นการแสดงอำนาจอธิปไตยของสยามเหนือดินแดนหัวเมืองประเทศราชล้านนา และเมืองขึ้นของล้านนามาทางเหนือ มีการตั้งศูนย์อำนาจควบคุมกันเป็นชั้นๆ จากเมืองหลวง ดังนั้นการศึกเชียงตุงจึงเป็นความพยายามที่จะสร้างศูนย์อำนาจย่อย จะขยายพระราชอาณาเขตออกไปให้กว้างขวางและควบคุมเมืองชายแดนอย่างมีประสิทธิภาพ

            ศึกเชียงตุง ไม่ได้มีสาเหตุจากความขัดแย้งระหว่างสยามและพม่าเท่านั้น แต่เกิดจากความไม่สมดุลแห่งอำนาจรัฐที่อยู่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้เชื่อมโยงไปถึงอาณาจักรตั้งแต่จีนตอนใต้ สิบสองปันนา หลวงพระบาง ล้านนาและเชียงตุง ซึ่งบ้านเมืองเหล่านี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันมาตั้งแต่สมัยก่อตั้งบ้านเมือง ดังนั้นการขยายอำนาจของสยามจึงก้าวเข้ามาเป็นชาติมหาอำนาจในพื้นที่นี้แทนพม่า ที่กำลังอ่อนแอและเผชิญปัญหากับชาติจักรวรรดินิยม

            นอกจากประโยชน์ทางการเมืองแล้ว เชียงตุงยังตอบสนองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสยาม เพราะเชียงตุงเป็นรัฐใหญ่ทางตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน มีเมืองบริวารสำคัญๆ ที่สามารถเป็นแหล่งกำลังคนและแหล่งการผลิต

            นักประวัติศาสตร์ท่านนี้ มองความล้มเหลวของการศึกเชียงตุงของสยามครั้งนี้ว่า "เกิดจากการขาดการวางแผนยุทธศาสตร์การรบ ไม่รู้จักพื้นที่ดีพอ และเจ้านายล้านนาไม่ให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ในด้านกำลังคนและเสบียงอาหาร อีกทั้งระหว่างการทำศึกมีความขัดแย้งกันเองข้าราชการสยามกับเจ้านายล้านนาอย่างรุน แรง ทำให้สยามประสบความล้มเหลว ส่งผลให้พม่าผู้เป็นเจ้าอธิราชของเชียงตุงยังคงรักษาฐานะรัฐไทใหญ่ที่สำคัญที่สุดทางฟากตะวันออกของแม่น้ำสาละวินไว้ได้"

            อีกทัศนะหนึ่ง ที่มองข้ามไม่ได้ในการศึกเชียงตุง คือเรื่องไพร่พล อาวุธยุทโธปกรณ์ รวมทั้งช้างม้าโคขนสัมภาระเสบียงอาหาร อ.จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ ศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์(ศิลปไทย)ว่า "การยกทัพของสยามไปทำศึกสงครามนั้น ตามแบบโบราณจัดให้มีทัพหน้า ทัพหลวง และทัพหลัง ซึ่งในการศึกเชียงตุงมีกองทัพเจ้านายฝ่ายเหนือเข้าสมทบกองทัพสยาม ในพ.ศ.2396 ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท และเจ้าพระยายมราช คุมกองทัพกรุงฯ"

            เจ้าพระยายมราช นำกองทัพหน้าเดินทางไปสู่เมืองพยาก จัดสร้างค่ายขึ้น เพื่อที่รอกองทัพหลวงกรมหลวงวงษาธิราชสนิทจะเสด็จตามขึ้นไป และกองทัพเมืองเชียงใหม่ แล้วจัดวางแผนการเดินทัพไปตีเมืองเชียงตุง ทั้งจัดให้กองทัพเมืองลำปางกับเมืองแพร่ยกไปตีเมืองยองทางหนึ่ง ให้กองทัพเมืองลำพูนยกไปตีเมืองล้ง เมื่อกรมหลวงวงษาธิราชสนิทจะเสด็จฯ นำกองทัพยาตราเข้าไปตีเมืองเชียงตุงนั้นโปรดเกล้าฯ ให้จัดกองทัพเป็นกระ บวนพยุหยาตราตามตำรับพิไชยสงครามและโบราณราชประเพณี

            พระยาสุริยวงศ์ ผู้บัญชาการทัพหน้าคุมไพร่พล 3,000 คน พระยาน่านคุมไพร่พล 3,000 คน พระยาวิชิตณรงค์คุมคนไปแต่กรุงฯ 260 คน พระยาแพร่คุมไพร่ไปสมทบ 1,000 คนเป็นกองหน้า พระยารามคำแหงคุมคนไปแต่กรุงฯ 200 คน กำกับไพร่เมืองพระบาง 1,000 คน เป็นปีกขวาของกองทัพหลวง พระยาพิไชยสงครามคุมคนไปแต่กรุงฯ 200 คน ควบคุมไพร่เมืองหลวงพระบาง 1,000 คน เป็นปีกซ้ายของกองทัพหลวง

กรมหลวงวงษาธิราชสนิท คุมคนไปแต่กรุงฯ กับไพร่หัวเมือง 2,000 คน เป็นทัพหลวง เจ้าอุปราชเมืองหลวงพระบางคุมไพร่ 1,000 คน เป็นทัพหลังตามทัพหลวง โดยกองทัพหลวงกรมหลวงวงษาธิราชสนิทยกทัพออกไปแต่เมืองเชียงแสน วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2396

            อ.จุลทัศน์ ยกเหตุการณ์ตอนหนึ่งเข้าตีเมืองเชียงตุง ที่บันทึกในจดหมายเหตุรายงานทัพ "เมื่อกองทัพยกขึ้นไปถึงเมืองเชียงตุง(อาทิตย์ที่ 19 มี.ค.) บริเวณเจ้าพระยายมราชตั้งค่ายอยู่นั้นเป็นที่กันดารน้ำ ไม่พอสำ หรับไพร่พล ช้างและโคได้กิน ขณะที่หน้าเมืองเชียงตุงอีกฟากหนึ่ง พวกเมืองเชียงตุงยิงปืนใหญ่ ปืนเล็กบนกำแพง ปืนคาบศิลายิงตามสนามเพลาะ ไพร่พลที่ขึ้นไปถูกยิงตายบ้าง ป่วยเจ็บไปหลายคน"

            ฝ่ายกองทัพสยามและเจ้านายฝ่ายเหนือเอาปืนใหญ่ยิงเข้าไปในเมือง แต่ไม่ถึงดี เพราะค่ายเมืองเชียงตุงนั้นตั้งอยู่บนเชิงเขาสูง กระสุนที่ยิงใส่เข้าไปก็ตกเพียงเชิงเนินเขาบ้าง ใบเสมาบ้าง ถึงกระนั้นฝ่ายเราตีค่ายบนเขาจอมศรีได้ แล้วเอาปืนใหญ่ตั้งยิงโต้ตอบทั้งเช้าเย็น

            เมื่อกองทัพหลวงเดินทางมาถึงเมืองเชียงตุง(อังคาร 22 มี.ค.) หน้าประตูย่านกลางเมือง พวกเชียงตุงก็ออกมาตีคัดท้ายกองทัพเพื่อแย่งชิงเอาช้าง แล้วก็สู้รบ จนไปตั้งค่ายทางทิศเหนือเมืองเชียงตุง อย่างไรก็ดีกอง ทัพสยามและกองทัพเจ้านายฝ่ายเหนือก็มิอาจตั้งค่ายล้อมเมืองไว้ทุกด้าน เพราะเมืองเชียงตุงตั้งอยู่บนเนินเขา ประกอบกับภายในกำแพงเมืองมีหนองน้ำ 4 หนองหล่อเลี้ยงชาวเมือง มีเนินลูกสูงต่ำไว้คอยสังเกตการณ์รอบๆ

            การสู้รบตีเมืองเชียงตุงกินเวลา 7 วัน กรมหลวงวงษาธิราชสนิทจึงมีรับสั่งว่า "ครั้นจะสู้รบต่อไป หามีหญ้าจะให้ช้างกินไม่ ช้างม้าก็ซวดโซลงทุกวัน เห็นเสียเปรียบข้าศึกถ่ายเดียว กระสุน ดินดำก็น้อยลง จึงให้ถอยทัพลงมาตั้งอยู่ที่เมืองเชียงแสน" การศึกสงครามคราวกองทัพสยามยกขึ้นไปตีเมืองเชียงตุง เป็นต้องยุติลงในเวลานั้น

            อ.จุลทัศน์ กล่าวการตีเมืองเชียงตุงไม่ได้นั้น ปัญหาบางกรณี เช่น สภาพลมฟ้าอากาศเป็นช่วงฤดูร้อน กลางวันร้อน กลางคืนอากาศเย็น เพราะเมืองเชียงตุงมีภูเขาล้อมรอบ เป็นเหตุให้คนที่ไม่คุ้นเคยสภาพอากาศเกิดการเจ็บไข้ได้ง่าย เสบียงอาหารและแหล่งน้ำรอบนอกไม่เพียงพอ สำหรับผู้คนในกองทัพ รวมไปถึงช้าง ม้า วัว ทำให้ทั้งคนและสัตว์อ่อนระโหยโรยแรง ขณะที่แม่ทัพและนายกองนั่งบนหลังช้าง ส่วนไพร่พลเดินด้วยเท้าย่อมเหนื่อยล้า และการศึกมีการยิงโต้ตอบทั้งกลางวันและคืน

           จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่กองทัพสยามคิดว่าตีเมืองเชียงตุงได้ แต่ไม่เป็นไปอย่างที่คิดไว้

 
  รูปประกอบข่าว
http://www.siamrath.co.th/UIFont/NewsDetail.aspx?cid=70&nid=36229
 


Windows Live™ SkyDrive™: Get 25 GB of free online storage. Check it out.

หอหลวงเชียงตุง / ภาพเล่าเรื่อง

หอหลวงเชียงตุง / ภาพเล่าเรื่อง
ข่าววันที่ 16 เมษายน 2552 แหล่งข่าวจาก สยามรัฐ

ภาพเล่าเรื่อง

บูรพา โชติช่วง

 

หอหลวงเชียงตุง

 

"หอหลวง" หรือ "หอคำ" เชียงตุง สัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณของชาวไทเขิน และชาวไทใหญ่ อาคารสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2449 ในสมัยเจ้าก้อนแก้ว อินแถลง ขึ้นครองราชย์เป็นเจ้าฟ้าหลวงเชียงตุง (พ.ศ.2439) ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 5–7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และสมัยพระเจ้าอินทวิไชยานนท์, เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ และเจ้าแก้วนวรัฐ แห่งนครเชียงใหม่

ข้อมูลจากเว็บไซต์เกี่ยวกับเชียงตุงให้รายละเอียดประวัติ "หอหลวงเชียงตุง" ตามที่เกริ่นไปเบื้องต้นของผู้สร้าง ส่วนสถาปัตยกรรมของหอหลวงแห่งนี้ ด้านหน้าอาคารคอนกรีต ศิลปะอังกฤษผสมอินเดีย ด้านหลังเป็นหลังคาศิลปะไทเขิน

หอหลวง นอกจากเป็นที่สำหรับเจ้าฟ้าออกว่าราชการตามปกติแล้ว ยังเป็นสถานที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ตลอดจนประชาชนในนครเชียงตุงเข้าเฝ้าเจ้าฟ้าในวาระสำคัญต่างๆ มีการจัดแสดง "ฟ้อนหางนกยูงคำ" (ปัจจุบันแลเห็นได้ในงานต้อนรับผู้มาเยือน) อันเป็นเอกลักษณ์ของเชียงตุง

หลังจากเจ้าก้อนแก้วฯ สิ้นพระชนม์(21 ก.ค. 2478) เจ้าก๋องไต ราชบุตรขึ้นครองราชย์ (3มิ.ย. 2480) เพียง 4 เดือนเศษ ถูกคนร้ายใช้ปืนพกยิงสิ้นพระชนม์ที่หน้าหอหลวง(22 ต.ค. 2480) ในเทศกาลออกพรรษา

ขณะนั้นเจ้าจายหลวง ราชบุตรเจ้าก๋องไต ยังเยาว์และศึกษาในต่างประเทศ กอปรกับอยู่ในช่วงสง ครามโลกครั้งที่ 2 เชียงตุงจึงมีผู้สำเร็จราชการอยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาเจ้าจายหลวงเป็นเจ้าฟ้าเชียงตุง(12 เม.ย. 2489) ในวันที่ 2 มีนาคม 2505 นายพลเนวิน ปฏิวัติและจับเจ้าจายหลวงไปขังที่กรุงย่างกุ้ง 6 ปี หลังจากนั้นให้อยู่ในกรุงย่างกุ้ง ห้ามกลับไปเชียงตุงอีก จนพระองค์สิ้นพระชนม์ (14 ก.ย.2540)

เจ้าจายหลวง นับเป็นเจ้าฟ้าเชียงตุงองค์สุดท้าย เนื่องจากรัฐบาลทหารพม่าได้ปฏิวัติในปีนั้นได้ขับไล่เชื้อสายเจ้าฟ้าและบริวารให้ออกไปอยู่ที่อื่น และยึดหอหลวง สัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณของชาวไทเขิน ไทใหญ่แปรสภาพเป็นสถานที่ราชการของพม่า อยู่เป็นเวลาร่วม 30 ปี

ในกลางปี 2534 รัฐบาลทหารพม่าอ้างว่า ต้องการใช้พื้นที่หอหลวงหลังนี้สร้างโรงแรม ไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว เป็นการสร้างความเจริญและสร้างรายได้ให้แก่เชียงตุง จึงเริ่มทุบทำลายหอหลวง (9 พ.ย. 2534) โดยไม่ยอมฟังเสียงคัดค้านจากคณะสงฆ์ไทเขินไทใหญ่ และชาวเชียงตุง แม้ว่าในเชียงตุงมีพื้นที่กว้างอยู่อีกมากเพียงพอที่สร้างโรงแรมขนาดใหญ่ได้ก็ตาม รัฐบาลพม่าใช้เวลารื้อทำลายอยู่ 6 เดือน

ต้นปี พ.ศ.2535 รัฐบาลทหารพม่าได้สร้างโรงแรมเชียงตุง(Kyainge Tong Hotel) อาคารแถวชั้นเดียว 2 หลัง บังกาโล 4 หลัง รองรับผู้เข้าพักได้ 60 คนขึ้นก่อนที่บริเวณลานด้านนอก ส่วนลานด้านในแต่เดิมเป็นที่ตั้งหอหลวงนั้นทำเป็นที่จอดรถ

ประมาณปี พ.ศ. 2540 รัฐบาลทหารพม่าได้สร้างโรงแรมนิวเชียงตุง (Kyainge Tong New Hotel) ขึ้นบนพื้นที่เดิมของหอหลวง มีการปรับตำแหน่งของอาคาร(นัยว่าเอาเคล็ด) ทำมุมเบี่ยงไปทางด้านซ้าย ประตูเข้าออกอยู่ทางตะวันออก (ชั้นดาดฟ้ายังคงสภาพหอเทวดา) โรงแรมนิวเชียงตุงในปัจจุบันบริหารโดยเอกชน

ที่น่าสนใจในพื้นที่หอหลวง(โรงแรม)นี้ ยังมีต้นไม้เก่าแก่ขนาดใหญ่อยู่หลายชนิดที่ปลูกไว้ในสมัยสร้างหอหลวง อาทิ ต้นพะยอม คงสภาพความอุดมสมบูรณ์

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือทางการพม่าสร้างพระยืนปางชี้นิ้วสูง 20 เมตร สูงที่สุดในเชียงตุงและพม่า บนภูพระธาตุจอมสัก โดยนิ้วชี้ของพระยืนชี้ตรงมายังหอหลวงอย่างตั้งใจ เสมือนหนึ่งเพื่อกดหรือข่มไว้

ถามผู้เฒ่าผู้แก่ไทเขิน ชาวเชียงตุง เดินทางผ่านโรงแรมนิวเชียงตุงเมื่อใด ก็อดคิดถึงหอหลวงไม่ได้ ส่วนหนุ่มสาวอายุต่ำกว่า 25 ปี ลงมาอาจจะไม่ได้ซึบซับเท่าใดนัก เพราะไม่เคยเห็นหอหลวงเชียงตุงจริงๆ ถ้าจะเห็นนั้นก็เห็นแต่ในรูปภาพเท่านั้น

 
  รูปประกอบข่าว
http://www.siamrath.co.th/UIFont/NewsDetail.aspx?cid=70&nid=36228


Rediscover Hotmail®: Get quick friend updates right in your inbox. Check it out.

ฤดูร้อนเส้นทางสายฝัน แม่สายมุ่งสู่เชียงตุง

ฤดูร้อนเส้นทางสายฝัน แม่สายมุ่งสู่เชียงตุง
ข่าววันที่ 14 เมษายน 2552 แหล่งข่าวจาก สยามรัฐ

สัญจร

เนติ โชติช่วงนิธิ

 

ฤดูร้อน เส้นทางสายฝัน

แม่สาย มุ่งสู่ เชียงตุง

 

ในความรู้สึกและนึกคิดของผมห้วงเวลาหนุ่มแตกพาน "ฝัน" อยากไปสัมผัสเมืองเชียงตุงสักครั้งหนึ่ง

กาลเวลาล่วงมากว่าสามสิบปี ผมหันเหชีวิตมาจับปากกาเขียนสารคดีท่องเที่ยวร่อนส่งตามหนังสือพิมพ์และนิตยสารเป็นครั้งคราว แล้วก็ใฝ่ฝันหาโอกาสที่จะมาเมืองเชียงตุงให้ได้ เพราะอยากเห็นบ้านเมือง ผู้คน ภาษา และสังคมทางวัฒนธรรม

            ในปี พ.ศ. 2545 ผมได้หนังสือสารคดีท่องเที่ยวชื่อ "เส้นทางสายฝัน" ของ คุณทองแถม นาถจำนง นักเขียนนักกวีผู้ย่ำเท้าไปในดินแดนสิบสองปันนา ยูนนาน เชียงรุ่ง เชียงตุง ฯลฯ เมื่อร่วมยี่สิบปีที่แล้ว และก่อนหน้านั้นในช่วงรอยต่อของปี พ.ศ. 2519

            หนังสือเล่มนี้ที่คุณทองแถมมอบให้ผมไว้ ทำให้ผมใคร่กระหายอยากไปสัมผัสมาก รวมทั้งหัวเมืองอื่นๆ ที่นักกวีท่านนี้เขียนงานบันทึกการเดินทาง เรื่องราวตำนานของชนชาติไทใหญ่ที่ร้อยรัดทางสังคมวัฒนธรรมให้ได้แลเห็น แต่ผมอ่านจบ เก็บเข้าลิ้นชัก เพราะยังไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะมีโอกาสเดินทางไปในดินแดนตามอักษรของหนังสือที่รจนาไว้

            กระทั่งกาลเวลาได้ล่วงมาอีก 7 ปีในฤดูร้อน ปลายเดือนมีนาคม พ.ศ.2552 กระทรวงวัฒนธรรมได้แจ้งมามีโปรแกรมไปเชียงตุง ในโครงการสัมมนาทางวิชาการตามพระนิพนธ์ "จดหมายเหตุทัพเชียงตุง" พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ที่องค์กรยูเนสโกยกย่องเป็นบุคคลของโลกของไทยลำดับที่ 19 ผมไม่ลัง เลในการตัดสินใจจะไปเชียงตุงดีหรือไม่ดี ผมตอบรับทันที ในเมื่อสิ่งที่ใฝ่ฝันมาตั้งแต่เนื้อหนุ่มแตกพานได้เดิน ทางมาถึงผมในเวลานี้ และไม่วายที่คว้าหนังสือ "เส้นทางสายฝัน" ใส่เป้ติดตัวไปด้วย

            บทสารคดีสัญจร ผมใช้หนังสือ "เส้นทางสายฝัน" นำทางไปตามเส้นทาง ที่ช่วยต่อภาพจากวันวานกับในปัจจุบันที่ผมเดินทาง อันจะช่วยให้ได้แลเห็นความเปลี่ยนแปลงหรือสภาพคงเดิมของบ้านเมือง วิถีชีวิตของผู้คนในสังคมวัฒนธรรมไทใหญ่ในเชียงตุง และตามรายทางของเส้นทางระหว่างเดินทาง ดังที่คุณทองแถมกล่าว "บางท่านมองเห็นการเคลื่อนย้าย ผ่านมิติ กาละ และเทศะ"

            09.00 น. 31 มีนาคม 2552 ผมและคณะรวมแล้ว 70 กว่าชีวิต นั่งเฉลี่ยไปกับรถตู้ 9 คัน เป็นคารา วานย่อมๆ มุ่งหน้าสู่เชียงตุง หลังจากที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายสัมพันธ์ต่างประเทศของกระทรวงวัฒนธรรมทำธุระใบผ่านแดนเสร็จล่วงหน้าไปก่อนแล้ว โดยนับตั้งแต่วินาทีที่ผ่านด่านท่าขี้เหล็กของพม่า ทุกคนกลายเป็น "คนเถื่อน" ไร้บัตรประชาชนทันที เพราะกองตรวจคนเข้าเมืองพม่ายึดไว้ จะคืนให้ต่อเมื่อกลับออกมาถึงด่านท่าขี้เหล็ก

ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดประการหนึ่ง ไม่มีรถจี้ปบรรทุกทหารพม่าหนึ่งหมู่พร้อมอาวุธครบมือนำขบวนเหมือนในอดีต ทั้งคณะแล่นฉิวออกนอกเมืองขี้เหล็กด้วยถนนลาดยางมะตอยที่ดูจะเสื่อมสภาพตามอายุการใช้งานรับน้ำหนักรถ ทั้งเบาและหนักที่ไม่จำกัดน้ำหนัก รถแล่นออกมาระยะหนึ่งก็เจอด่านเก็บเงินด่านแรกที่จะเข้าถึงบ้านท่าเดื่อ   

ที่บ้านท่าเดื่อนี้ เป็นจุดพักแรกของคนเดินทางในท้องถิ่น แต่คณะไม่ได้แวะ เพราะแข่งกับเวลาในการเดินทางตามคำบอกไกด์หนุ่ม แต่ละจุดหมายให้ถึงเวลาที่ทหารพม่ากำหนดไว้ หากเวลาผิดพลาดไปแม้แต่ชั่วโมงเดียว นั่นหมายถึงทั้งคณะมีสิทธิ์โดนตรวจสอบทันที

ที่บ้านท่าเดื่อ มีสองทางแยก ทางแยกซ้ายไปเชียงตุง ระยะทางประมาณ 160 กว่ากิโลเมตร ส่วนแยกขวาไปเมืองเล็น ซึ่งบ้านท่าเดื่อขึ้นกับเมืองเล็น คุณทองแถมเขียนไว้เมืองเลนมาจากคำว่า "บุ้งเลน" เป็นบุ้งตัวใหญ่ๆ สีเขียว

จากถนนบ้านท่าเดื่อไปเชียงตุงนั้นไต่ไปตามไหล่เขา เพลินไปกับวิวทิวทัศน์ของลำธารลัดเลี้ยวไปตามซอกขุนเขา ถ้าเป็นบ้านเมืองเราสภาพแบบนี้คงมีการสร้างรีสอร์ทตามรายทางเป็นแน่ เพราะธรรมชาติได้สร้างสรรค์งดงามเหลือเกิน ถึงกระนั้นสภาพขุนเขาก็ปราศจากต้นไม้ใหญ่อยู่ไม่น้อย ที่ตื่นตาเห็นจะเป็นร่องรอยการทำนาข้าวบันได แต่ตอนนี้ฤดูหว่านเมล็ดข้าวยังมาไม่ถึง จึงเห็นเพียงผืนนาว่างเปล่า

คณะเราผ่านด่านเก็บเงินอีก แล้วก็มาถึงด่านพยาก มีทางแยกไปเมืองพยากคงสภาพดินลูกรัง ได้แต่สูบบุหรี่ยืนมองเส้นทางสายนี้ เพราะจากเมืองพยากนั้นไปเมืองยอง ในเส้นทางสายฝันเขียนไว้สามารถเดินทาง เข้าสิบสองปันนาได้อีกทางหนึ่ง ก็ได้แต่หวังใจว่าวันหนึ่งจะมีโอกาสไปสัมผัสบนเส้นทางสายนี้

เมืองพยากนี้ คุณทองแถมเขียนไว้ "ตั้งอยู่บนเนินเขา มีแม่น้ำโหลง(หลวง) ไหลผ่านเมืองแม่น้ำ โหลงสายนี้มีต้นน้ำอยู่ทางตอนใต้ของเมืองเชียงตุง เมื่อไหลลงไปถึงเมืองเลนเรียกว่าแม่น้ำเล็น แล้วไหลไปรวมกับแม่น้ำรวก ไหลไปออกแม่โขงที่อำเภอเชียงแสน" ส่วน "พื้นเมืองพยาก" และ "ตำนานพระเจ้าเลียบโลก" บอกว่าเมืองพยากเดิมเป็นชุมชนลัวะ

หลังจากคณะจอดแวะพักด่านพยากเพื่อทำธุระส่วนตัวแต่ละคนเสร็จดีแล้ว ก็มุ่งหน้าสู่ดอยติ๊ก ได้ยินไกด์เรียกดอยสามสิบ ความสูงชันและรถแล่นไต่ระดับเขาขึ้นไปนั้นไม่ต้องพูดถึง เล่นเอาชาวคณะเสียวไปตามๆ กัน เพราะถนนบางช่วงถูกน้ำเซาะจนไม่แน่ใจว่ารถใหญ่ๆ จะแล่นผ่านได้หรือไม่ แต่ความงดงามนั้นเป็นเครื่องยาใจชวนให้ผมเพลินไปกับธารธารา

เมื่อเราผ่านเขาตะแกรงที่ดูทะมึนน่าเกรงขาม ไกด์ท้องถิ่นบอกว่า "เป็นที่ซุ่มของชนกลุ่มน้อยว้าแดง ที่คอยซุ่มโจมตีรถทหารพม่าและรถน้ำมัน ฉะนั้นแล้วอย่าขับรถตามหลังรถน้ำมันเด็ดขาด มิฉะนั้นแล้วมีสิทธิ์ถูกหวย แต่ที่ผ่านมาคณะเดินทางของไทยยังไม่เคยถูกลอบทำร้าย" ผมก็ภาวนาขอให้ปลอดภัยเช่นนั้นเหมือนกัน เราหยุดแวะพักอีกครั้งที่บ้านดอยปางควาย ก่อนเข้าเขตด่านเชียงตุงราว 30 กิโลฯ ทอดสายตาจากดอยไปยังเบื้องล่างแลเห็นชุมชนเขตเชียงตุงได้

อากาศที่ร้อนอบอ้าวมาตั้งแต่การเดินทางออกจากท่าขี้เหล็ก พอเข้าเขตเชียงตุงได้อากาศก็เริ่มเย็น เมฆฝนครึ้มไปทั่วท้องฟ้าเหนือเชียงตุง ระหว่างที่เรากินข้าวมื้อกลางวันอันเป็นเวลาบ่ายโมงฝนได้เทกระหน่ำ ลูกเห็บเม็ดเล็กๆ โปรยลงมาจากท้องฟ้า ผมเห็นเด็กๆ และผู้ใหญ่ที่ร้านอาหารและที่วัด วิ่งไปเก็บมาหยอดตาใส่หูกัน ถามคนเฒ่าคนแก่ไทใหญ่บอกเพียงว่า ชาวไทใหญ่ในเชียงตุงเชื่อกันว่าเป็นน้ำบริสุทธิ์ ที่เทพยดาประธานมาให้

การเดินทางจากท่าขี้เหล็กถึงเชียงตุง ระยะทาง 190 กว่ากิโลฯ บนถนนยางมะตอยที่ไม่ราบเรียบดีนักใช้เวลา 4 ชั่วโมงเศษ ที่บัดนี้ทำให้ผมแลเห็นชัยภูมิของเมืองเชียงตุงในรัฐฉานของพม่า เมืองแห่ง 3 จอม 9 หนอง 12 ประตู สร้างบ้านแปงเมืองในสมัยราชวงศ์มังราย เชียงตุงในสมัยพม่าปกครอง และมีสายสัมพันธ์ดินแดนล้านนาเชียงแสน เชียงราย เชียงใหม่(พระเจ้ากาวิละ) และในภายหลังเชียงตุงในคราบพม่าก็ตกเป็นเมืองอาณานิคมของอังกฤษเมื่อพม่าพ่ายแพ้สงคราม กระทั่งล่วงเข้าสู่เชียงตุงในสมัยรัตนโกสินทร์

เมื่อแลเห็นชัยภูมิ ทำให้ผมฉุกคิดที่ด้านหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 ของสยามเข้าตีเมืองเชียงตุงถึง 3 ครั้งจึงไม่ประสบความสำเร็จ  เพราะสภาพขุนเขาน้อยใหญ่โอบล้อม เป็นกำแพงธรรมชาติรอบด้านของเมือง โดยที่ "เวียง" ชั้นในมีคูเมืองหรือกำแพงเมืองและดินเป็นป้อมปราการสูง

อย่างที่ รองศาสตราจารย์สมโชติ อ๋องสกุล คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เดินทางร่วมมากับคณะด้วยก็บอกว่า "สูงและใหญ่กว่ากำแพงเชียงแสนสองเท่า และยังมีดอยเหมยที่ตั้งตระหง่านไกลออกไปนอกเมืองเป็นเกราะป้องกันด่านแรก" อย่างไรก็ดีในไทยยึดเมืองเชียงตุงในสมัยสงครามเอเชียบูรพา (พ.ศ.2484) ด้วยการสนับสนุนจากญี่ปุ่น ต่อภายหลังญี่ปุ่นแพ้สงครามในปี พ.ศ.2488 ไทยได้มอบดินแดนนครเชียงตุงให้ฝ่ายสหประชาชาติจัดการปกครอง

ผมหยิบเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจ "เมือง" กับ "เวียง" เพราะหลายคนหรือแม้กระทั่งผมอาจเรียกสับสน คุณทองแถมได้ให้สองคำนี้ไว้ "หากเมืองที่ไม่มีหอเจ้าฟ้า ไม่มีกำแพงเมืองหรือคูเมือง ก็จะเรียกว่าเมือง แต่หากเมืองใด มีหอเจ้าฟ้า เจ้าฟ้าประทับอยู่ในเมืองนั้น และมีคูเมืองมีกำแพงเมือง อย่างนั้นจะเรียกว่าเวียง อย่างเชียงตุง เขาเรียก เวียงเชียงตุง"

นี่เองกระมัง เรื่องเวียงเชียงตุง ที่ส่วนตัวผมนั้นแสนเศร้า เมื่อมารับรู้โบราณสถาน "หอหลวง" วังเก่าของเจ้าฟ้าเชียงตุง ทางรัฐบาลพม่าได้รื้อราบเรียบไปเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว ไม่อยากสรุปไปถึงขั้นว่าได้ทำลายและลบล้างประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมอันเป็นสัญลักษณ์ทางจิตวิญญาณของชาวไทเขิน(ขึน) ในเชียงตุงให้สูญสลาย

ที่ยิ่งไปกว่านั้นชวนให้หดหู่สำหรับผมเลยทีเดียว เมื่อรู้ว่าที่หลับนอนในสองคืนก็คือ "หอหลวง" หลังนี้ที่รัฐบาลพม่าได้แปรสภาพเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งชื่อนิวเชียงตุง ให้เอกชนบริหารจัดการ ผมจำใจและฝืนนอน ทั้งๆ ที่ต่อมสำนึกบอกกับตนเองไม่ควรเยี่ยงนี้เลย ผมยกมือไหว้เพื่อเคารพเจ้าของสถานที่ ขออนุญาตวิสาสะนอน

การเดินทางไปเชียงตุง 3 วัน 2 คืน มีเรื่องราวที่จะเล่าอยู่อีกหลายด้านมิอาจพรรณนาได้มากในเนื้อที่จำกัด แต่อย่างหนึ่งของเมืองเชียงตุง เป็นเสมือนปากประตูการค้า นักธุรกิจไทยเคยตื่นตูมตามกับเรื่องราว "สามเหลี่ยมเศรษฐกิจ" และ "สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ" เมื่อสิบปีก่อน ที่บัดนี้ยังคงเป็นเส้นทางสายฝันที่ไทยฝันจะเป็นปากประตูสู่อินโดจีน พม่า ลาว จีน เวียดนาม พัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน พรมแดนติดต่อค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า และความเชื่อมโยงทางสังคมวัฒนธรรม

เชียงตุง เป็นเมืองที่มีเสน่ห์ทางสังคมวัฒนธรรม วิถีชีวิตชาวไทเขินก็เหมือนเอื้องหลวง กล้วยไม้ป่าที่งดงาม อักษร-ภาษาที่ร้อยเรียงไทเขิน(อู้คำเมือง) ชีวิตพอเพียง ใครใคร่ทำเกษตรกรรม ทำ ใครใคร่ค้าขาย ค้า ภาพวิถีชีวิตที่ดำรงด้วยอัตภาพกำลังของตนเองที่เราแลเห็นได้ในตลาดสดใจกลางเมือง

ในวัฒนธรรมแห่งความสงบงามนั้นเราสามารถพบเห็นชาวไทเขินในพระพุทธศาสนา ผู้เฒ่าผู้แก่แต่งกายในชุดไทเขิน ขณะที่ผู้ชายจะละเมียดละไมกับการการจิบชานม ตามร้านชาและหนองตุง อันเป็นมรดกการกินดื่มของอังกฤษ อีกจำนวนหนึ่งปรับตัวไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ โดยซึมซับผ่านทางสื่อทีวีของไทย และจีน แลเห็นการแต่งกายของหนุ่มสาว บางคนไว้ทรงผมสไตล์เกาหลี ด้านอาคารบ้านเรือนเป็นตึกหลังคามุงกระเบื้องแทรกอยู่ระหว่างกระเบื้องดินขอ

ผมนำเอาภาพสีสันชีวิตชาวไทเขินเชียงตุงมาฝากท่านผู้อ่าน เพื่อท่านมีโอกาสไปเที่ยวตามเส้นทางสายฝันเหมือนกระผม

 
  รูปประกอบข่าว
http://www.siamrath.co.th/UIFont/NewsDetail.aspx?cid=70&nid=36148


Rediscover Hotmail®: Get e-mail storage that grows with you. Check it out.

มอแกลน-อุลักลาโว้ย ยิปซีแห่งท้องทะเล

 มอแกลน-อุลักลาโว้ย ยิปซีแห่งท้องทะเล
ข่าววันที่ 4 เมษายน 2552 แหล่งข่าวจาก สยามรัฐ

สัญจร

เนติ โชติช่วงนิธิ

 

มอแกลน อุลักลาโว้ย

ยิปซีแห่งท้องทะเล

            ชีวิตคือการเดินทาง

            บางคนบอก เดินทางมาแต่แรกในครรภ์มารดา

            บางคนบอก เทพผู้สร้างมนุษย์กำหนดชะตาชีวิตเดินทาง

            บางคนบอก การเดินทางช่วยเปิดโลกทัศน์ตนเอง ฯลฯ เฉกเช่นผม อันนอกเหนือชีวิตการงานประจำวันร่อนอยู่ระหว่างราชดำเนิน-ปิ่นเกล้า แต่เข้าสุดสัปดาห์ผมพากายและหัวใจสัมผัสวิถีชีวิตผู้คนต่างเมืองต่างวัฒนธรรม อย่างเที่ยวนี้กระทรวงวัฒนธรรมผู้สนับสนุนการเดินทางพาผมร่อนลงเกาะภูเก็ต

เกาะภูเก็ต พื้นเพเมืองเก่านาม "ถลาง" หน้าด่านแห่งทะเลอันดามัน จังหวัดที่ละเมียดละไมด้วยนิเวศธรรมชาติ หาดทราย แสงแดด สายลม แต่ต้องละเลียดข้าวราดแกง-น้ำดื่มราคาสูงกว่าเมืองหลวงกรุงเทพฯ

ภูเก็ต ไม่ได้มีแค่หาดป่าตอง กะรน ที่นักเดินทางยุโรปบินข้ามมหาสมุทรมานอนอาบแดด เริงระบำแสงสียามค่ำคืน หรือชมตะวันรอนที่แหลมพรหมเทพ นอนโรงแรม รีสอร์ท เล่นระดับตามไหล่เขาและบนยอด แต่เมืองภูเก็ตยังมีโซนอาคารสถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกีส Sino Portuguese Style บนถนนเยาวราชอิทธิพลศิลปวัฒนธรรมของจีนและฝรั่ง ถนนดีบุกย่านการค้าแร่ดีบุกของนายเหมืองยุคเก่าก่อนให้ชื่นชม

แล้วผมก็พบว่าชนชั้นของคนในภูเก็ต มีหลายสถานะตั้งแต่มหาเศรษฐีถึงยาจก บ้านเรือนมุงกระเบื้องถึงกระท่อมมุงสังกะสี กับวิถีชีวิตการดำรงอยู่ของคนในสภาพหาเช้ากินค่ำ หรือหาค่ำกินเช้า ทั้งในเมืองและชายขอบของแผ่นดินที่เรียกว่าหาดหรือหัวแหลม การดำรงอยู่ของชาวเลเรียกขานตัวเองมอแกลน อุลักลาโว้ย แต่กลุ่มคนเมืองตั้งชื่อพวกเขาชาวไทยใหม่

ผมเดินทอดน่องบนชายหาด บรรจงกดชัตเตอร์ภาพเรือกาบไม้หรืออุลักลาโว้ยเรียก "บูราฮู้" จอดเรียงราย เชือกป่านที่ตะใคร่จับจนเป็นสีเขียว มันบ่งบอกถึงอายุการใช้งานของเรือได้เป็นอย่างดี ที่พวกเขายึดอาชีพ พรานทะเลออกไปหาปลาฤดูแล้วฤดูเล่า และไม่วายภาพเด็กๆ กำลังสนุกสนานสำราญใจกับการเล่นน้ำทะเล

ทำให้ผมอดนึกถึงหน้าร้อนในวัยเด็กอย่างเสียมิได้   

มอแกลน อุลักลาโว้ย อีกนิยามหนึ่ง ยิบซีแห่งท้องทะเล เป็นใคร มาจากไหน จากบันทึกข้อมูลเทศ บาลตำบลราไวย์ กล่าวบรรพบุรุษของ 2 ชาติพันธุ์ยิปซีแห่งท้องทะเล ล่องเรือร่อนเร่หากินตามทะเลตามเกาะต่างๆ คาบสมุทรมาลายู จากเกาะสุวาเวสีตะวันตกอินโดนีเซีย เกาะซูลในฟิลิปปินส์ ริมฝั่งเมืองมะริดเขตพม่า แล้วมอแกลนก็ร่อนเรือมาถึงแผ่นดินภูเก็ต ตั้งถิ่นฐานบ้านไม้ขาว หินลูกเดียว แหลมหลา ฯลฯ ส่วนอุลักลาโว้ยตั้งถิ่นฐานเกาะสิเหร่ แหลมตุ๊กแก หาดราไวย์ ฯลฯ แล้วดำรงสืบพันธุ์ออกลูกออกหลานร่วมพันครัวเรือน คิดเป็นประ ชากรราวสี่พันชีวิต

มอแกลน อุลักลาโว้ยรุ่นใหม่ ถือบัตรประชาชนพลเมืองไทยอาจไม่ใส่ใจภาษาออสโตรนีเซียนตระกูลของบรรพบุรุษ เพราะวิถีทำมาหากินต้องปรับสภาพเข้ากับศิวิไลท์ของเมืองภาษาไทยเป็นสิ่งจำเป็นติด ต่อคนเมือง-ราชการ และพบว่าจำนวนหนึ่งขึ้นบกเอาดีจับจอบเสียมทำสวน ขึ้นต้นมะพร้าว แรงงานก่อสร้าง บางคนใส่ชุดพนักงานต้อนรับ ไกด์รับจ้างบริการนำเที่ยว แต่จำนวนไม่น้อยยังคงยึดอาชีพพรานทะเล

ในวิถีความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณีลอยเรือ ชาวมอแกลนและอุลักลาโว้ยยังแสดงออกให้เห็นอยู่ แม้จะถูกปรุงแต่งให้ดูสวยงามตามที่องค์กรเอกชนหรือภาครัฐกำหนด ขณะที่กระทรวงวัฒนธรรมภายใต้บทบาทนายธีระ สลักเพชร รมว.วัฒนธรรม จะดำเนินการตั้งศูนย์วัฒนธรรมเพื่อบอกสถานะเป็นตัวตนของกลุ่มชาติพันธุ์

ก่อนที่นายทุนรุกคืบชายหาดผืนงาม กลืนวัฒนธรรมชาวเลเพื่อสร้างรีสอร์ท

 
  รูปประกอบข่าว
http://www.siamrath.co.th/UIFont/NewsDetail.aspx?cid=69&nid=35630
 


Rediscover Hotmail®: Now available on your iPhone or BlackBerry Check it out.

ผู้ติดตาม

คลังบทความของบล็อก

เกี่ยวกับฉัน

รูปภาพของฉัน
ข่าวสาร ข้อมูล ทุกด้านต้องรับฟัง ไม่เชื่อสิ่งที่เห็น ฟังข่าวสารเพียงฝ่ายเดียว ต้องรู้เท่าทันในการรับรู้ข่าวสารจากทุกแหล่งข่าว FACT - Freedom Against Censorship Thailand กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย http://facthai.wordpress.com/ http://twitter.com/jiew ● ปรึกษาปัญหากฏหมาย ละเมิด,สัญญา,อายัดทรัพย์ ยึดทรัพย์ ปัญหาติดต่อราชการ ฟรี ● พิมพ์รายงาน,ค้นหาข้อมูล, ● งานพิมพ์ Lay-Out,Art Work สำนักพิมพ์ดาวหาง www.sanamluang.bloggang.com สนใจติดต่อสอบถาม workingmailhome@hotmail.com

รายการบล็อกของฉัน